คลังเสนอม.44 ปราบคนโกง
คลังเสนอนายกรัฐมนตรีใช้ ม.44 ปราบคนโกง เผยคนจ่ายสินบนหากรับสารภาพไม่มีโทษทางอาญา กรณีผู้จ่ายสินบนยอมรับสารภาพแลกกับการเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังหารือผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง พร้อมพลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
เพื่อหารือและวางแนวทางในการแก้ไขปัญหาการคอรัปชั่นของหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นผลที่สืบเนื่องมาจากคดีความโรลส์-รอยซ์ของบริษัท การบินไทย ที่มีการคอรัปชั่นทำให้นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงในเรื่องดังกล่าวมากและต้องการให้กระทรวงการคลังมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจากกระทรวงการคลังดูแลกรมบัญชีกลาง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการเบิกจ่ายเงินอยู่แล้ว
“ จากการหารือของกระทรวงการคลังได้ข้อสรุปว่า จะเสนอให้กระทรวงยุติธรรมที่กำกับดูแลกฎหมายการคอรัปชั่นแก้ไขกฎหมายโดยจะเพิ่มเติมคือ 1.กรณีที่มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคอรัปชั่นไม่มีการกำหนดอายุความและสามารถพิจารณาคดีย้อนหลังได้ด้วย และ2.กรณีภาคเอกชนซึ่งอยู่ในฐานะผู้ให้สินบน หากถูกจับได้ว่า จ่ายสินบนจริงและยอมรับสารภาพ กฎหมายใหม่จะเว้นโทษทางอาญา แต่ยังมีโทษเปรียบเทียบกับทางแพ่งเหมือนกับต่างประเทศ เช่น สหรัฐฯ อังกฤษและจีน เพื่อจูงใจให้ผู้จ่ายสินบนเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด จากปัจจุบันกฎหมายกำหนดลงโทษทั้งอาญาและทางแพ่งกับผู้รับและผู้จ่ายเงินสินบน หรือคอรัปชั่น ”
รมว.คลัง กล่าวว่า “ กฎหมายเดิม ผู้ที่ให้สินบนจะไม่กล้าเปิดเผยตัวเอง เพราะถ้าเปิดเผยจะโดนคดีอาญา ดังนั้นควรแก้กฎหมายนี้ว่า กรณีผู้ให้ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีความผิดอยู่แล้ว แต่ถ้ารับสารภาพว่าให้เพราะอะไร ให้แก่ใคร อาจจะลงโทษด้วยการจ่ายเป็นค่าปรับ หรือทำทัณฑ์ไว้ เมื่อแก้กฎหมายแบบนี้ ผู้ที่ให้ หรือถูกบังคับให้ให้โดยที่ไม่อยากทำ จะได้สามารถเปิดเผยข้อมูลกับภาครัฐได้และภาครัฐจะได้เล่นงานคนที่รับสินบนตรงได้ ซึ่งหลายประเทศใช้แบบนี้แล้ว น่าจะได้ประโยชน์ เพราะผู้ให้สินบนจะได้ไม่เป็นผู้รับปัญหาแต่ฝ่ายเดียว สามารถถือไพ่เหนือกว่าผู้บังคับให้รับสินบนได้ ที่จีนก็แก้กฎหมายเป็นแบบนี้แล้ว ”
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะเสนอให้นายกรัฐมนตรีเร่งแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ซึ่งเข้าใจว่า นายกรัฐมนตรีอาจจะใช้มาตรา 44 (ม.44) เพื่อเร่งแก้ไขกฎหมายให้เสร็จโดยเร็วที่สุด ซึ่งคาดว่า จะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ได้ในวันที่ 20 ก.พ.นี้ แต่นายกรัฐมนตรีกำชับว่า ให้เร่งเสนอเร็วกว่านี้ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญของประเทศชาติ
นายอภิศักดิ์ กล่าวว่าข้อเสนอของกระทรวงการคลังในเรื่องการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวยังไม่ถือเป็นข้อยุติ เพราะเรื่องนี้ต้อง นำเข้าสู่ที่ประชุมของ ป.ย.ป.และต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะประเด็นหมดหรือไม่หมดอายุความนั้น โดยส่วนตัวเห็นว่า คดีคอรัปชั่นไม่ควรหมดอายุความ แต่ก็มีคนโต้แย้งว่า จะขัดหลักนักสิทธิมนุษยชน ซึ่งหากเป็นคนโกงก็ไม่น่าจะมีเรื่องสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม ในช่วงประมาณเดือนส.ค.60 นี้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ที่แก้ไขเสร็จแล้วเพราะอยู่ระหว่างการรอลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะช่วยทำให้การทุจริตคอรัปชั่นลดลงได้ ทั้งในเรื่องการกำหนดร่างทีโออาร์ การฮั้วประมูล การมีตัวกลางเพื่อเรียกหรือจ่ายสินบน ซึ่งที่ผ่านมา การประมูลด้วยระบบ e-Bidding สามารถประ หยัดเงินงบประมาณได้ 65,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในที่ประชุมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าวมีความเห็นว่าปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นล้วนมาจากปัจจัย 3 เรื่องหลัก คือ 1.การกำหนด TORและการกำหนดราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้างที่แต่ละหน่วยงานจะเป็นผู้กำหนดขึ้นเอง 2.การฮั้วราคาของผู้เข้าร่วมประมูล ซึ่งเป็นช่องโหว่สำคัญของการจัดซื้อจัดจ้าง และ 3.การจัดซื้อผ่านคนกลาง ที่รับค่าคอมมิชชั่นจากบริษัทแม่แล้วนำมาจ่ายสินบนต่อให้แก่บุคคลที่สามารถเอื้อประโยชน์ในการชนะประมูลได้.