คลังแจกรางวัลพร้อมเพย์ 1 ล้านบาท
คลังขอเงินสนับสนุนสำนักงานสลากฯ จัดโปรโมทแจกรางวัลผู้ใช้บริการและร้านค้าผู้ให้บริการพร้อมเพย์ รางวัลที่ 1 รางวัลละ 1 ล้านบาท และอื่นๆ รวม 7 ล้านบาทต่อเดือน มั่นใจผู้ให้บริการเครื่องอีซีดี ไม่ทะเลาะกัน
“ ภายในเดือนมี.ค.ไม่เกินเดือนเม.ย.60 กระทรวงการคลังจะจับรางวัลผู้โชคดีจากการใช้พร้อมเพย์มูลค่าเดือนละ 7 ล้านบาท ตลอดระยะเวลา 12 เดือน หรือ 84 ล้านบาทให้แก่ประชาชนทั่วไปและร้านค้าที่ให้บริการพร้อมเพย์ โดยรางวัลใหญ่ที่สุดจะมีมูลค่า 1 ล้านบาท จำนวน 2 รางวัลคือ 1.ประชาชนผู้ใช้พร้อมเพย์ และ2.ร้านค้าที่ให้บริการพร้อมเพย์ ส่วนเงินรางวัลที่เหลืออีก 5 ล้านบาท จะซอยย่อยรางวัลเป็นรายที่ 2 และอื่นๆ ตามความเหมาะสมต่อไป ” นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว เมื่อวันที่ 24 ม.ค.60
ทั้งนี้ การจับรางวัลดังกล่าว เกิดขึ้นได้เพราะกระทรวงการคลังของบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจำนวน 84 ล้านบาท ตลอดระยะเวลา 12 เดือน เพื่อรณรงค์การใช้พร้อมเพย์ที่จะเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 27 ม.ค.นี้
ในช่วงระหว่างนี้ กระทรวงการคลังต้องรีบดำเนินการเรื่องการเพิ่มเครื่องรับชำระเงิน (Electronic Data Capture) หรืออีดีซี ซึ่งล่าสุดมีบริษัทที่เสนอตัวในการให้บริการจำนวน 2 ราย ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการเสนอรายละเอียดโครงการและราคา โดยผู้ชนะการประมูลจะมีรายได้หลักจากค่าธรรมเนียมในการโอนเงิน ทั้งนี้ หากทั้ง 2 บริษัทเสนอราคาใกล้เคียงกันก็อาจ จะพิจารณาให้มีผู้ชนะทั้ง 2 รายได้ เนื่องจากผู้ให้บริการด้านนี้ มีอยู่เพียง 2 กลุ่มเท่านั้นคือ 1.ธนาคารกรุงเทพฯ และธนาคารกสิกรไทย และกลุ่มที่ 2 คือธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารออมสินและอื่นๆ ขณะที่กระทรวงการคลังตั้งเป้าหมายที่จะติดตั้งเครื่องอีดีซีทั้งหมด 550,000 เครื่อง ภายในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งในจำนวนนี้ มีเครื่องอีดีซีที่ต้องติดตั้งอยู่ในหน่วยงานภาครัฐ 18,000 เครื่อง
“ ตารางเวลาในการติดตั้งเครื่องอีดีซี กำหนดว่า หลังจากวันที่ 26 ก.พ.60 ซึ่งเป็นวันที่เปิดซองประมูลไปแล้ว ในเดือนมี.ค. ผู้ชนะการประมูลต้องติดตั้งให้ได้ 15% ของจำนวนเครื่องทั้งหมด 555,000 เครื่อง เดือนก.ค.ต้องติดตั้ง 50% เดือนพ.ย.ติด ตั้งให้ได้ 75% และในเดือนมี.ค.61 จะต้องติดตั้งให้ครบ 100% ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ และมีความซับซ้อนมาก หากมีผู้ชนะเพียง 1 ราย การติดตั้งเครื่องอาจจะใช้ระยะเวลาเกิน 1 ปี ” ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวและกล่าวว่า
หลักเกณฑ์การติดตั้งเครื่องอีดีซีให้แก่ร้านค้าและหน่วยงานรัฐนั้น ได้วางเป้าหมายเอาไว้ทั้งหมด 3 ประเภท 1. บริษัท นิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินให้แก่ประชาชน 2. บุคคลธรรมดาที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินให้แก่ประชาชน และ 3.ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการรับและจ่ายเงินให้แก่ประชาชน เช่น การจ่ายค่าปรับต่างๆ ให้แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ การรับหรือจ่ายเงินจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็นต้น.