คลังคลอดกองทุนใหม่ SSF เน้นออมยาว
คลังชง ครม.ขานรับ ไฟเขียวลดหย่อนภาษีกองทุนใหม่ SSF เน้นออมระยะยาว รวมกองทุนการออมวัยเกษียณอื่นๆ หักลดหย่อนไม่เกิน 5 แสนบาท/ปี ลงทุนในหลักทรัพย์ทุกประเภท ไม่จำกัดขั้นต่ำ ไม่จำกัดเงื่อนไขซื้อต่อเนื่อง แถมขายคืนได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ฯ พ่วงปรับเกณฑ์ RMF ใหม่ เน้นให้สิทธิภาษีคนระดับกลางลงมา และวัยเริ่มทำงาน เพิ่มหักลดหย่อนเป็น 30%
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการออมระยะยาว ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ประกอบด้วย การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อ “กองทุนรวมเพื่อการออม” (Super Savings Fund: SSF) หรือ “กองทุน SSF” ที่จะมาแทนที่กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long-Term Equity Fund) หรือ LTF และการปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อ “กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ” (Retirement Mutual Fund: RMF) หรือ”กองทุน RMF” เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมระยะยาวมากขึ้น ซึ่งการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจะมุ่งเน้นให้กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงน้อย และผู้ที่เริ่มต้นวัยทำงานได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ เพื่อเป็นการจูงใจให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวเริ่มต้นการออมระยะยาวโดยเร็ว
โดยมีสาระสำคัญด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษี ให้บุคคลธรรมดาสามารถหักลดหย่อนภาษีเงินได้สำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน SSF ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยเมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ (กองทุน RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ หรือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในแต่ละปีภาษี
นอกจากนี้ กองทุน SSF ยังสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท ไม่กำหนดจำนวนขั้นต่ำในการซื้อหน่วยลงทุน และไม่กำหนดเงื่อนไขในการซื้อต่อเนื่อง ผู้ซื้อกองทุน SSF สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่อถือมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ เงินได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน SSF จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคค หากปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด ทั้งนี้ สามารถหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนใน SSF ได้ 5 ปี (63 – 67) โดยกระทรวงการคลังจะประเมินผลของมาตรการเพื่อพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป
ในส่วนกองทุน RMF ได้ทำการปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยผู้ซื้อสามารถปรับสัดส่วนการหักลดหย่อนภาษีสำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน RMF จากเดิมไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน เป็นไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน โดยยังคงกำหนดวงเงินหักลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ (กองทุน SSF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ หรือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ) เพื่อเป็นการส่งเสริม ให้ประชาชนออมได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้ยกเลิกการกำหนดจำนวนขั้นต่ำในการซื้อกองทุน RMF (เดิมกำหนดให้ซื้อไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของเงินได้พึงประเมิน หรือไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อปี แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า) เพื่อให้ผู้ที่มีรายได้ปานกลางถึงน้อยสามารถซื้อกองทุน RMF ได้ โดยยังคงกำหนดให้ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี และไม่ระงับการซื้อเกิน 1 ปีติดต่อกันเช่นเดิม
“กระทรวงการคลังมุ่งหวังให้ประชาชนทุกกลุ่มมีวินัยการออม เริ่มต้นออมระยะยาวตั้งแต่เข้าสู่วัยทำงาน และรู้จักวางแผนทางการเงิน เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงทางรายได้ เมื่อพ้นวัยทำงาน ทั้งนี้ สำหรับการลงทุนในกองทุน LTF ซึ่งจะสิ้นสุดการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในปี 62 นั้น นักลงทุนจะยังคงสามารถซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน LTF ได้ และแม้ว่าจะไม่ได้รับการลดหย่อนภาษีสำหรับเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63 เป็นต้นไป แต่กระทรวงการคลังได้เสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ผู้ที่ถือหน่วยลงทุนได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับกำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุนของกองทุน LTF เช่นเดียวกับกองทุนรวมอื่น ๆ เช่นกัน” นายอุตตม กล่าว และว่า
ครม.ยังเห็นชอบให้ยกเว้นภาษีจากการใช้จ่ายเงินผ่านกระเป๋า 2 ในมาตรการ “ชิมช้อปใช้” หลังจากได้รับส่วนลดจากรัฐบาล โดยกระทรวงการคลังยังเตรียมแจกของขวัญปีใหม่ผ่านมาตรการดังกล่าว ที่จะทะยอยออกมาในเร็ ๆ นี้ เพื่อต่อยอดมาตรการและส่งเสริมให้ประชาชนใช้เงินผ่านกระเป๋า 2 และแอปฯเป๋าตังของธนาคารกรุงไทย.