แก้รธน.ชั่วคราวเปิดทางแก้รธน.ฉบับประชามติ
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์เห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ …) เพื่อเปิดทางให้มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ
โดยก่อนการลงมติสนช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชี้แจงว่า มีบทบัญญัติ 3 – 4 รายการ ที่จำเป็นต้องแก้ไขให้เป็นไปตามพระราชอำนาจ ซึ่งเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดังนั้นรัฐบาลรับสนองพระบรมราชโองการดังกล่าว โดยต้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 และหลังจากนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ถูกนำขึ้นทูลเกล้าฯไปแล้ว กลับลงมาเพื่อแก้ไข ซึ่งคาดว่าจะเสร็จภายใน 2 – 3 เดือน ก่อนจะส่งขึ้นทูลเกล้าฯอีกครั้ง และเรื่องนี้อยู่ในกรอบเวลา เพราะเดิมจะครบกำหนด 90 วันในวันที่ 6 ก.พ.นี้ ตอนนี้ถ้าส่งร่างรัฐธรรมนูญลงมาแล้ว เราจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฯ ถ้าจะให้เร็วก็ประมาณ 1 เดือน
ด้าน “นายวิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ย้ำอีกครั้งว่า หลังจากสนช. พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 เสร็จแล้ว นายกฯจะต้องไปรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติกลับลงมาภายใน 30 วัน เมื่อไปรับพระราชทานมาแล้วจะมีการแต่งตั้ง “กรรมการกฤษฎีกาเพื่อดำเนินการยกร่างมาตราที่จะมีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติให้เป็นไปตามข้อสังเกตพระราชทาน” ทันที
สำหรับ “มืออรหันต์” ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขมีจำนวน10คน ประกอบด้วย นายวิษณุ เครืองาม นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นายอภิชาต สุขัคคานนท์ รองประธานกรธ. นายอัชพร จารุจินดา กรธ. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. นายบวรศักด์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
นายอำพน กิตติอำพน อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด และนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา