นายกฯหนุนผุดเครือข่ายความยั่งยืนฯ
นายกฯประยุทธ์หนุน “เครือข่ายเพื่อความยั่งยืนฯ” ย้ำทุกฝ่ายต้องช่วยกัน รัฐบาลพร้อมดัน “มาตรการการเงินสมัยใหม่” ควบการจัดตั้งกองทุนขนาดใหญ่ สร้างหลักประกันเศรษฐกิจ ฝากดูแลคนแก่ยุคสังคมผู้อายุเต็มรูปแบบ ด้าน “อุตตม” เผย ไทยพร้อมก้าวสู่แนวทาง “ถึงเวลา เติบโต ร่วมกัน” กระตุ้นบริษัทจดทะเบียนฯทำธุรกิจบนความรับผิดชอบ ขับเคลื่อนประเทศทุกมิติ ตั้งเป้าต้องเติบโต แข็งแกร่งและยั่งยืน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวตอนหนึ่งระหว่างเป็นประธานเปิดตัวเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Thailand Responsible Business Network ; TRBN) ในหัวข้อ “พลังภาคเอกชนจะร่วมสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมให้ประเทศไทยได้อย่างไร และภาครัฐพร้อมสนับสนุนอะไรบ้าง” ณ ห้องคริสตัล บอลรูม ชั้น 3 โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทลแบงค็อก ถ.วิทยุ เมื่อช่วงสายวันที่ 2 ธ.ค.62 ว่า การสร้างเครือของภาคเอกชนเป็นเรื่องที่ดี แต่เครือข่ายจะต้องไม่ยุ่งเหยิง ไม่เช่นนั้นเครือข่ายจะยุ่งไปหมด ทั้งนี้ รัฐบาลในฐานะกำกับดูแลนโยบายต่างๆ ได้อำนวยความสะดวกให้การสนับสนุน มีการริเริ่มมาตรการทางการเงินการคลัง ที่แต่เดิมเคยแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยมาตรการการเงินการคลัง และภาษี แต่วันนี้ต้องแก้ด้วยมาตรการการเงินสมัยใหม่ โดยการจัดตั้งกองทุน ต้องคิดว่าจะนำของภาครัฐและเอกชนมาสมทบกันได้อย่างไร มีเป้าหมายจะใช้กับใครได้อย่างไร เราต้องทำไปด้วยกันไม่ใช่สั่งแล้วจะทำได้ทีเดียว ต้องใช้กฎหมายคู่ขนานไปด้วย
ขณะที่โลกและสังคมไทย อยู่ในจุดที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ จำเป็นที่เราจะต้องปรับตัวให้สอดคล้องการเปลี่ยนแปลง การร่วมมือของภาครัฐ เอกชน รัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจต่างๆ ต้องร่วมมือกัน เรามีโครงการมาแล้วในรูปแบบโครงการประชารัฐ นี่ไม่ใช่พรรคการเมือง แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาก่อนแล้ว ในเมื่อทั่วโลกกำลังตื่นตัวเรื่องเหล่านี้ ประเทศไทยก็ต้องตื่นตัวเหมือนกัน และเราต้องช่วยกันคิดเพื่อสร้างความสมดุล จะแยกกันคิดไม่ได้อีกแล้ว
ทั้งนี้ ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบในปี 64 จำเป็นที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องคิดใหม่และทำใหม่ เช่น การเตรียมการและพัฒนาทักษะแรงงานและคนในประเทศให้พร้อม รวมทั้งรับมือปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม แต่จะให้รัฐบาลทำฝ่ายเดียวคงทำไม่ได้ จึงขอฝากให้ช่วยกันสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนและสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นเพื่อรับมือกับประเด็นท้าทายดังกล่าว เพื่อให้ทันและสอดคล้องกับการพัฒนาและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
สำหรับการจัดตั้งเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทยนั้น นายกรัฐมนตรีคาดหวังว่า ภาคเอกชนจะร่วมกันพัฒนาประเทศให้มีความก้าวหน้าอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน และร่วมกันใช้ทรัพยากรอันล้ำค่า ที่มีอยู่จำกัดอย่างมีคุณค่า ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งสร้างจิตสำนึกความรู้สึกเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน โดยไม่นิ่งดูดาย จับมือกันสานพลัง และกระจายความเจริญก้าวหน้า ความรู้ และโอกาสไปสู่บุคคล องค์กรต่างๆ ทั่วประเทศ
ก่อนหน้านี้ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์และที่มาของเครือข่าย “จากโครงการเสริมสร้างตลาดทุนธรรมาภิบาลเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สู่เครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย” ในงานเปิดตัวเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนประเทศไทย ว่า การรวมตัวของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนในครั้งนี้ ถือเป็นการแสดจุดยืนร่วมกัน เพื่อนำสู่เป้าหมายความร่วมมือที่เรียกว่าเป็น “เครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN)” นำไปสู่การจุดประกายในลักษณะ “ถึงเวลา เติบโต ร่วมกัน” นอกจากนี้ ยังจะกระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียนของไทยและบริษัทเอกชนทั่วไป ได้ดำเนินธุรกิจบนสำนึกความรับผิดชอบ พร้อมกับร่วมกันขับเคลื่อนประเทศในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม สอดรับกระแสตื่นตัวทั่วโลกและเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) เพื่อเป็นแนวทางการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในระยะยาวต่อไป.