น้ำท่วมภาคใต้หนัก
เกิดเหตุน้ำท่วมอย่างรุนแรงทางภาคใต้ของไทย ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วถึง 21 ราย กระทบการผลิตยางพาราในภูมิภาคและทำให้โครงสร้างพื้นฐานหยุดชะงัก
อ้างอิงจากข้อมูลของทางการเมื่อวันที่ 9 ม.ค. และรัฐบาลเร่งยกระดับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบเหตุในพื้นที่อย่างเต็มกำลัง
ตามปกติแล้ว ฤดูฝนในประเทศไทยควรต้องสิ้นสุดในช่วงปลายเดือนพ.ย. แต่ในปีนี้ ฝนกลับตกหนักอย่างต่อเนื่องและทำให้เกิดน้ำท่วมในเดือนม.ค โดยฝนที่ตกหนักอย่างผิดธรรมชาตินี้ ส่งผลกระทบต่อ 12 จังหวัดทางภาคใต้อย่างรุนแรง
“ เราได้ส่งกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และกระทรวงมหาดไทยลงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเพื่อคลี่คลายสถานการณ์แล้ว ” พลเอก ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว
โดยยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุน้ำท่วมครั้งนี้จนถึงวันที่ 9 ม.ค.พุ่งถึง 21 รายแล้ว และมีบ้านเรือนได้รับผลกระทบมากถึง 330,000 ครอบครัว อ้างอิงจากข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
โดยทางกรมรายงานว่า สนามบินในภาคใต้ เช่น สนามบินที่จังหวัดนครศรีธรรมราชยังคงปิดให้บริการ และเส้นทางรถไฟจากกรุงเทพไปนครศรีธรรมราชก็ยังคงยกเลิกการให้บริการเช่นกัน
ทั้งนี้ พื้นที่ทางภาคใต้เป็นศูนย์กลางในการผลิตยางพาราของไทยและน้ำท่วมส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเกษตรกร อ้างอิงจากคำให้สัมภาษณ์ของนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย
“ นี่เป็นผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดสำหรับเราในรอบ 10 ปี น้ำท่วมรุนแรงมาก ปัญหาในปีนี้ที่เราเจอคือ ทั้งแล้งจัดและน้ำท่วม ทำให้เป็นหายนะของชาวสวนยางจริงๆ ” นายอุทัยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์
นายอุทัยกล่าวว่า ราคายางจะพุ่งขึ้นในปีนี้ เพราะดีมานด์สูงเกินกว่าซัพพลายค่อนข้างมาก “ ผมได้คำสั่งซื้อจากจีน แต่เรายังไม่แน่ใจว่า เราจะจัดหาให้ได้ตามคำสั่งซื้อหรือไม่ เพราะน้ำท่วมหนักส่งผลกระทบมาก ”
“ ถ้าพวกเขาซื้อ ราคาก็จะสูงเกินกว่าที่เราคาดการณ์ไปมาก ” นายอุทัยให้ความเห็น
ทั้งนี้ เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งรุนแรงที่สุดของไทยเกิดขึ้นในปี 2554 ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 900 ราย และส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่ออุตสาหกรรม ทำให้ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยดิ่งวูบลงเหลือเพียง 0.1% เท่านั้น.