“สมคิด” ตามไล่บี้งานกระทรวงการคลัง
“สมคิด” ตามไล่บี้งานกระทรวงการคลัง หลังจากมติ ครม.อนุมัติให้ดำเนินการไปแล้ว ต้องนำไปสู่ภาคปฏิบัติจนสำเร็จไม่เช่นนั้นอาจมีโยกย้ายใหญ่ในเดือนเม.ย.นี้ มั่นใจตลาดหุ้นไทยพุ่งแรงเพราะปัจจัยพื้นฐานดี
เมื่อวันที่ 5 ม.ค.2560 สัปดาห์แรกของทำงานหลังจากผ่านพ้นช่วงเทศกาลปีใหม่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ใช้โอกาสนี้เดินสายตรวจเยี่ยมกระทรวงการคลังเป็นกระทรวงแรก เพื่อมอบขวัญและกำลังใจให้แก่ข้าราชการ แต่ท้ายที่สุดบรรยากาศในที่ประชุมตึงเครียดหลังรองนายกรัฐมนตรีไล่งานกระทรวงการคลังในทุกๆ ด้านทั้งการจัดเก็บรายได้ และการติดตามผลงานจากมาตรการต่างๆ ที่ ครม.มีมติไปแล้ว
“การเดินทางมาในครั้งนี้ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ข้าราชการกระทรวงการคลัง และติดตามงานด้านต่างๆ ที่เป็นมติคณะ รัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้วแต่ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติ เช่น มติ ครม.เรื่องมาตรการเกี่ยวกับคนชรา เป็นต้น โดยกำกับให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ต้องเป็นศูนย์กลางของมาตรการนี้ โดยมีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเช่นเรื่องบ้านของคนชราก็คือธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กรมธนารักษ์และการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ต้องร่วมมือกันทำงาน ไม่ใช่ออกเป็นมติ ครม.ไปแล้วทุกอย่างนิ่งเฉยอยู่กับที่ ไม่มีการนำไปสู่ภาคปฏิบัติหรือสานต่อเรื่องจนสำเร็จ” รองนายกรัฐมนตรี (สมคิด) กล่าว และกล่าวว่า
“ผมไม่ได้มาตำหนิการทำงานของกระทรวงการคลัง แต่ต้องการบอกว่า รัฐบาลเหลือเวลาการทำงานอีก 1 ปี ดังนั้น ในช่วงนี้ ทุกคนต้องเร่งการทำอย่างเต็มที่เพื่อให้นโยบายที่รัฐบาลผลักดันออกเป็นรูปธรรม”
นอกจากนี้ ยังกำชับให้กระทรวงการคลังไปเร่งดำเนินการเรื่อง Negative Income Tax : NIT หรือที่ สศค.ใช้ชื่อว่า “ เงินโอน แก้จน คนขยัน ” หมายถึงการให้เงินช่วยเหลือคนจน แต่ไม่ได้ให้ฟรีๆ โดยประชาชนได้รับความช่วยเหลือต้องหางานทำและหากมีรายได้ถึงในระดับหนึ่งแล้วจะต้องเสียภาษีให้แก่รัฐบาล เพราะถือว่า หลุดพ้นจากความยากจนได้สำเร็จ โดยตั้ง เป้าหมายให้ NIT เป็นมาตรการที่ต่อเนื่องจากการลงทะเบียนเพื่อขอรับสวัสดิการแห่งรัฐ โดยในปีที่แล้ว ครม.ได้อนุมัติแจงเงินให้แก่ประชาชนคนละ 3,000 บาท กรณีที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท และที่มีรายได้ 30,000 บาทแต่ไม่เกิน 100,000 บาท ได้รับเงิน 1,500 บาทนั้น ต้องนำไปคิดต่อว่า สศค.จะนำฐานข้อมูลของประชาชนที่มาลงทะเบียนมากกว่า 8 ล้านคนไปพัฒนาต่อได้อย่างไร
นายสมคิด กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลพยายามดำเนินการคือ ให้คนจนสามารถอยู่รอดต่อไปได้ภายใต้การช่วยเหลือของรัฐบาลและเมื่ออยู่รอดได้แล้ว ประชาชนที่ได้รับความช่วยเหลือก็ต้องช่วยตนเองได้ด้วยเช่น เมื่อรับสวัสดิการจากรัฐไปแล้ว ก็ควรที่จะต้องส่งลูกหรือบุตรหลานไปเรียนหนังสือ เพื่อให้มีความรู้ มีงานทำและหลุดพ้นจากความยากจนโดยในอีก 3 เดือนข้างหน้า (เดือนเม.ย.60) ตนจะเดินทางมาติดตามการทำงานกระทรวงการคลังเพื่อประเมินผลงานก่อนที่จะมีการโยกย้ายหรือปรับเปลี่ยนตำแหน่งในช่วงครึ่งปีแรกของงบประมาณ2560.
ส่วนการปรับตัวเพิ่มขึ้นของตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ มาจาก 3 ปัจจัยคือ 1.บรรยากาศการลงทุนและโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ยังดีและมีความแข็งแกร่ง เมื่อเปรียบกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มเดียวกัน 2.การมีโครงการลงทุนทางด้านอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง ซึ่งสังเกตได้จากยอดการส่งออกในเดือนพ.ย.59 ที่เพิ่มขึ้นเกือบ 10% และ3.การเพิ่มบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ให้มีมากขึ้น ไม่ใช่มีแค่บริษัทใหญ่ๆ ชั้นนำไม่กี่แห่งเท่านั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ทำให้นักลงทุนต่างชาติที่เคยทิ้งตลาดหุ้นไทยไปต้องหวนกลับมาอีกครั้ง เพราะนักลงทุนจะทราบว่า ที่ไหนดีที่ สุดและเหมาะที่จะลงทุนมากที่สุด
“ในปีนี้ รัฐบาลตั้งเป้าหมายที่จะให้จีดีพีขยายตัวมากกว่า 4% ไม่ใช่ 3.3% เพราะสัญญาณของเศรษฐกิจโลกเพิ่มฟื้นตัว อย่างชัดเจนหลังจากเดือนพ.ย.ที่เราส่งออกไปสูงเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวขึ้นดี ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไป จีดีพีไม่น่าจะต่ำกว่า 4% อย่างแน่นอน ซึ่งล่าสุดสภาหอการค้าญี่ปุ่น ได้ขอให้รัฐบาลไทยช่วยต่ออายุมาตรการหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่าออกไปอีก 1 ปี เนื่องจากมาตรการนี้ สิ้นสุดลงแล้วเมื่อปลายเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา ก็แสดงให้เห็นว่า นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจแต่ที่ยังไม่กล้าลงทุน เพราะกลัวเศรษฐกิจไม่ฟื้น ซึ่งคาดว่า รมว.คลังน่าจะพิจารณาต่ออายุมาตรการดังกล่าว และจะเสนอให้ ครม.พิจารณาได้ในเร็วๆนี้ โดยมีข้อแม้ว่า เอกชนจะต้องการลงทุนก่อน”