ครม.ผ่าน 3 มาตรการดันเศรษฐกิจปี 62
ครม.เห็นชอบ 3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของคลัง “เพิ่มความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก – ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว – ลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัย” เผยรัฐอัดเม็ดเงินรอบนี้เฉียดแสนล้านบาท ด้าน “อุตตม” หวังแนวทางนี้จะปลุกเศรษฐกิจช่วงปลายปีนี้ สร้างแรงส่งต่อเนื่องปีหน้า
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 62 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ว่า เป็นไปเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจเติบโตและขยายผลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อประชาชน เกษตรกรรายย่อย ผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยมีรายละเอียดดังนี้
- โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ประจำปีงบประมาณ 63 ประกอบด้วย 3 โครงการย่อย ได้แก่
1.1 โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานระดับหมู่บ้าน โดยจัดสรรเงินให้แก่กองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมืองที่ได้รับการประเมินอยู่ในระดับ A B และ C จำนวน 71,742 แห่ง แห่งละไม่เกิน 200,000 บาท ผ่านสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ภายใต้วงเงินรวม 14,348.4 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเงินทุนในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็กในชุมชน สนับสนุนผู้ประกอบการ และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ เช่น ยุ้งฉางชุมชน โรงตากพืชผลทางการเกษตร โรงสีชุมชน โรงงานผลิตปุ๋ยประจำชุมชน การจัดทำแหล่งเก็บน้ำชุมชน เครื่องจักรสำหรับแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น หรือกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนที่ชุมชนเห็นว่าเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมศักยภาพในการประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ในชุมชนให้ดีขึ้น
1.2 โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 50,000 ล้านบาท ให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สถาบันการเงินประชาชน สถาบันการเงินชุมชน สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม และผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร เพื่อเป็นค่าลงทุนในการดำเนินกิจการและเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 0.01 ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี หลังจากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ยตามปกติของ ธ.ก.ส. ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.62 ถึง 30 พ.ย.65
1.3 โครงการพักชำระหนี้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองตามความสมัครใจ โดยกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองพักชำระหนี้หรือลดภาระหนี้เงินกู้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองให้กับสมาชิกที่มีความเดือดร้อนตามแนวทางที่คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติกำหนด เพื่อให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองได้ผ่อนคลายภาระการชำระหนี้ที่มีกับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และสามารถนำเงินส่วนดังกล่าวมาประกอบอาชีพสร้างรายได้ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนและหนี้นอกระบบ
- มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ผ่านโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 62/63 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร โดยการลดภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวข้าวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น โดยเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 62 กับกรมส่งเสริมการเกษตรจะได้รับเงินช่วยเหลือ
ค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวเฉพาะเกษตรกรรายย่อยอัตราไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมในโครงการโดยสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 62/63 พร้อมทั้งขยายระยะเวลาการจ่ายเงินให้เกษตรกรจากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.62 เป็นสิ้นสุดวันที่ 30 เม.ย.63 เนื่องจากมีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้กับกรมส่งเสริมการเกษตรมากกว่าที่คาดการณ์ไว้
- มาตรการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัย ภายใต้โครงการ “บ้านดีมีดาวน์” เพื่อเป็นการลดภาระและสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยภาครัฐสนับสนุนเงินเพื่อลดภาระการผ่อนดาวน์ (Cash Back) จำนวน 50,000 บาท ต่อราย ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมมาตรการต้องเป็นผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อเดือน หรือไม่เกิน 1,200,000 บาทต่อปี ผู้ที่อยู่ในระบบฐานภาษีอากรของกรมสรรพากร จำนวน 100,000 ราย และผ่านเกณฑ์ ตามแนวทางที่กระทรวงการคลังกำหนด ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย. 62 – 31 มี.ค.63
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังคาดว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 62 จะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศทำให้เศรษฐกิจในไตรมาส 4 เติบโตอย่างต่อเนื่อง และสร้างแรงส่งให้เศรษฐกิจในปี 63 ขยายตัวอย่างมีศักยภาพต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอัดฉีดเม็ดเงินรอบนี้ของรัฐบาล เฉพาะโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานระดับหมู่บ้าน 14,348.4 ล้านบาท และโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย 50,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีโครงการพักชำระหนี้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองตามความสมัครใจ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว และ มาตรการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัยที่คาดว่าจะต้องใช้เม็ดเงินรวมกันราว 1 แสนล้านบาท จะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 2.5 แสนล้านบาทในช่วง 1 เดือนเศษที่เหลือของปีนี้.