สศช.ห่วงเจนวายไร้แผนออมหลังเกษียณ
สศช.ยังเป็นห่วงสถานการณ์แรงงานไทย แม้แนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาส 4 และปีหน้าจะดีขึ้น ชี้หนี้ครัวเรือนไตรมาส 2 ขยายตัวแบบชะลอลง เหตุเพราะภาวะเศรษฐกิจหดต่อเนื่อง ผลจากมาตรการแอลทีวี ทำคนไม่สนกู้ซื้อบ้าน ขณะที่รถยนต์รุ่นใหม่มีน้อยมาก เผยกังวัล “คนเจวาย” มีรายได้ดี แต่ชะล่าใจเรื่องเงินออมวัยเกษียณ ย้ำต้องเร่งพีอาร์ด่วน
สศช.ยังเป็นห่วงสถานการณ์แรงงานไทย แม้ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจจะดีขึ้นในไตรมาส 4 และปีหน้า ขณะที่ หนี้ครัวเรือนไตรมาส 2 ขยายตัวแบบชะลอ มาอยู่ที่ 5.8% ลดลงจาก 6.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว มาตรการแอลทีวีของธปท. ทำให้คนเมินกู้บ้าน และไม่มีรถยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ท้องตลาด ขณะที่คนเจวาย รายได้ดีแต่ไม่ออมเงินไว้ใช้ในวัยเกษียณ
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวถึงการติดตามข้อมูลภาวะสังคมประจำไตรมาสที่ 3 ปี 62 ของ สศช.ว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ขยายตัว 2.4% เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ที่ขยายตัว 2.3% เป็นสัญญาณบวกว่าแนวโน้มเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะขยายตัว 2.6% อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่ สศช.จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด หลังพบอัตราการว่างงานมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 2 โดยไทยมีอัตราการว่าง 0.98% หรือ 377,000 คน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.04% หรือ 394,000-400,000 คน ในไตรมาส 3 จากจำนวนแรงงานทั้งหมด 37.5 ล้านคน
โดยอัตราการว่างงาน 400,000 คนของแรงงานไทย ยังถือว่าอยู่ในภาวะปกติ เพราะเป็นการว่างงานในภาคเกษตร ที่มีการจ้างงานลดลง 1.8% และเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 จากปัญหาภัยธรรมชาติและเรื่องของฤดูกาล ขณะที่การจ้างงานภาคนอกเกษตรลดลง 2.3% ตามการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการหดตัวของการส่งออก โดยสาขาที่จ้างงานลดลงได้แก่ สาขาการผลิต สาขาการขายส่งขายปลีกและสาขาการก่อสร้าง ทั้งนี้ สศช.ได้นำสัญญาณภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลงมาพิจารณาประกอบ ได้แก่
1.ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ที่มีเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาส 3 มีถึง 172,000 คน คิดเป็น 1.5% ต่อจำนวนผู้ประกันตน มาตรา 33 และสูงสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 52 ที่มีสัดส่วน 2.2%
2.คำสั่งซื้อในประเทศและต่างประเทศปรับตัวลดลง โดยดัชนีภาวะธุรกิจจากคำสั่งซื้อในประเทศปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน ขณะที่คำสั่งซื้อจากต่างประเทศหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6 ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการจ้างงานในอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก
3.การทำงานล่วงเวลา (โอที) ลดลง โดยผู้มีงานโอที ลดลง 7.9% ในไตรมาสที่ 3 ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 59 เป็นต้นมา
และ 4.สถานประกอบการขอใช้มาตร 75 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เพื่อหยุดงานชั่วคราวโดยจ่ายค่า จ้างให้ลูกจ้างไม่น้อยกว่า 75% นั้น ปรากฏว่า ไตรมาส 3 มีแรงงานได้รับผลกระทบ 48,015 คน จากสถานประกอบการ 93 แห่ง แบ่งเป็นหยุดกิจการบางส่วน 21,297 คน และหยุดกิจการทั้งหมด 26,718 คน แต่สัญญาดังกล่าว ในไตรมาสที่ 4 และปีหน้า อาจจะมีทิศทางที่ดีขึ้น หากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยปีหน้าขยายตัวได้ 3.2%
เลขาธิการ สศช. กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนนั้น ข้อมูลล่าสุด ณ ไตรมาส 2 พบว่า ครัวเรือนไทยมีหนี้สิน 13.08 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.8% ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับ 6.3% ในไตรมาสก่อนหรือคิดเป็นสัดส่วน 78.7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงเร็วกว่าหนี้สินครัวเรือน ขณะที่ยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่ 3 มีมูลค่า 133,254 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 12.2% หรือประมาณ 100,000 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เรื่องดังกล่าว สศช.ก็ยังไม่ได้น่ากังวลมากนัก
ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนที่ชะลอตัวมีสาเหตุหลัก 3 ประการด้วยกันคือ 1.มาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการคุมเข้ม สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ หรือแอลทีวี 2.สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยกู้ และ 3.สินเชื่อรถยนต์ เนื่องจากไม่มีรถยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ท้องตลาด
“ที่ผ่านมา สศช.ไม่ได้เป็นห่วง หรือแสดงความกังวลเรื่องหนี้ครัวเรือนมากนัก เมื่อ ธปท. คุมสินเชื่อบ้าน และประชาชนรอเปลี่ยนรุ่นรถยนต์รุ่นใหม่ จึงทำให้ยอดสินเชื่อลดลง ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ สัปดาห์แล้ว สั่งการให้ ธปท. สศช.และกระทรวงการคลังไปศึกษาพฤติกรรมการก่อหนี้ว่า การก่อหนี้ส่วนบุคคลเพื่อนำไปลงทุนธุรกิจส่วนตัว คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของหนี้ครัวเรือน ถือเป็นหนี้ครัวเรือนหรือไม่ เพราะเมื่อลงทุนไปแล้ว มีผลกำไรจะจำแนกออกมาได้หรือไม่ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขหรือแนวทางดูแล เพื่อประกอบอาชีพต่อไป โดย ธปท.จะนำข้อมูลมาสรุปในปลายเดือน ธ.ค.นี้” เลขาธิการ สศช.ย้ำ และว่า
นอกจากนี้ สศช.ยังศึกษาเรื่องรูปแบบการทำงานของคนรุ่นใหม่ (NextGen Work) มากกว่า 2 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่ม ขึ้นปีละ 300,000-600,000 คน (กลุ่มคนเกิดระหว่างปี 24-44) ซึ่งจัดเป็นกลุ่ม “เจเนอเรชั่นวาย” (เจวาย) ที่เติบโตมาพร้อมกับการ ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต และมีแนวโน้มในการประกอบอาชีพในรูปแบบใหม่มากขึ้น โดย 1 ใน 3 ของเจนวายชอบทำงานแบบ NextGen Work สูงกว่าคนในกลุ่มอื่น
สำหรับ 4 อาชีพอันดับแรกได้แก่ กราฟิกดีไซน์ การตลาดออนไลน์และโฆษณา การทำเว็บและโปรแกรมมิ่ง และงานเขียนและแปลภาษา แม้ว่าเจนวายมักชอบความเป็นอิสระ ต้องการเป็นผู้จัดการตนเองรวมถึงชอบการทำงาน มีความยืดหยุ่นสูง อย่างไรก็ตาม ยังพบว่าคนเจนวายที่ทำงานในรูปแบบใหม่ กลับไม่ตระหนักถึงเรื่องการวางแผนด้านการเงินในอนาคตเท่าที่ควร โดยกลุ่มตัวอย่างอายุระหว่าง 18-39 ปี จำนวน 6,255 คน พบว่า 72% ยังไม่ได้มีการวางแผนเตรียมความพร้อมในวัยเกษียณ แต่อย่างใด จำเป็นที่สศค.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจถึงคนกลุ่มนี้โดยเร็ว.