เฟดขึ้นดอกเบี้ยไม่กระทบไทย
เฟด หรือธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 0.50-0.75% ตามที่ตลาดคาดการณ์ พร้อมปรับขึ้นดอกเบี้ยมาตรฐาน หรือ discount rate 0.25% สู่ระดับ 1.25% “ อภิศักดิ์ ” มั่นใจไม่มีผลกระทบไทย
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอีก 0.25% สู่ระดับ 0.50-0.75% ในการประชุมเมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 15 ธ.ค. ตามเวลาประเทศไทย ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ FOMC ยังมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (discount rate) สู่ระดับ 1.25% จากเดิมที่ระดับ 1%
ทั้งนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมครั้งนี้ นับเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในปีนี้ และครั้งที่ 2 ในรอบเกือบ 10 ปี
ขณะเดียวกัน กรรมการเฟดคาดการณ์ว่า จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีหน้า ครั้งละ 0.25% โดยเพิ่มขึ้นจากจำนวน 2 ครั้งที่มีการคาดการณ์ในเดือนก.ย. ส่วนในปี 2018 และ 2019 เฟดคาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้ง โดยปรับขึ้นครั้งละ 0.25% ไม่เปลี่ยนแปลงจากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนั้น เฟดคาดการณ์ว่าในปีนี้อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ระดับ 0.63% ไม่เปลี่ยนแปลงจากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ ส่วนในปี 2560 คาดการณ์อยู่ที่ 1.38% เพิ่มขึ้น 0.25% จากคาดการณ์ก่อนหน้านี้ ปี 2561 คาดการณ์อยู่ที่ 2.13% เพิ่มขึ้น 0.25% จากคาดการณ์ก่อนหน้านี้, ปี2562 คาดการณ์อยู่ที่ 2.88% เพิ่มขึ้น 0.25% จากคาดการณ์ก่อนหน้านี้ ขณะที่คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่ระดับ 3.0% เพิ่มขึ้น 0.13% จากคาดการณ์ก่อนหน้านี้
ในแถลงการณ์เฟดระบุว่า เฟดคาดการณ์ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ความเสี่ยงในระยะใกล้ค่อนข้างมีความสมดุล
ส่วนในการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อนั้น เฟดคาดการณ์ว่าในปีนี้อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับ 1.5% เพิ่มขึ้น 0.2% จากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ ส่วนในปี 2560 คาดการณ์อยู่ที่ 1.9% ไม่เปลี่ยนแปลงจากคาดการณ์ก่อนหน้านี้, ปี2561 คาดการณ์อยู่ที่ 2.0% ไม่เปลี่ยนแปลงจากคาดการณ์ก่อนหน้านี้, ปี2562 คาดการณ์อยู่ที่ 2.0% ไม่เปลี่ยนแปลงจากคาดการณ์ก่อนหน้านี้ ขณะที่คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะยาวที่ระดับ 2.0% ไม่เปลี่ยนแปลงจากคาดการณ์ก่อนหน้านี้
สำหรับการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เฟดคาดว่าในปีนี้จะมีการขยายตัว 1.9% เพิ่มขึ้นจากระดับ 1.8% ในการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ ขณะที่ปี 2560 จะมีการขยายตัว 2.1% เพิ่มขึ้นจากระดับ 2.0% ส่วนในปี 2561 คาดว่าจะยังคงอยู่ที่ระดับ 2.0% และปี 2562 คาดว่าจะมีการขยายตัว 1.9% เพิ่มขึ้นจากระดับ 1.8% ที่มีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ ส่วนตัวเลขการขยายตัวในระยะยาวยังคงอยู่ที่ระดับ 1.8%
เฟดคาดการณ์ว่าอัตราว่างงานจะอยู่ที่ระดับ 4.7% ในปีนี้ ลดลงจากระดับ 4.8% ที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้ และอยู่ที่ 4.5% ในปี 2017 ลดลงจากระดับ 4.6%
แถลงการณ์เฟดระบุว่า เฟดจะยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ซึ่งจะช่วยหนุนความแข็งแกร่งของตลาดแรงงาน และผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่ระดับ 2% ซึ่งเฟดคาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2018
นอกจากนี้ เฟดยังระบุว่าอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็ได้ปรับตัวขึ้นพอสมควร ขณะที่ตลาดแรงงานใกล้อยู่ในภาวะจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ
ขณะที่ นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนภายหลังจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟด (FOMC) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 0.50% – 0.75% ในการประชุมเมื่อวานนี้
” ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ ดิฉันและกรรมการเฟดได้เล็งเห็นว่า เศรษฐกิจมีการเติบโตจนใกล้บรรลุเป้าหมายการผลักดันการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ ควบคู่ไปกับการรักษาราคาให้มีเสถียรภาพ เราคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะยังคงมีการขยายตัวที่ดี โดยตลาดแรงงานยังคงมีความแข็งแกร่ง และอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 2% ในช่วง 2 ปีข้างหน้า “ นางเยลเลนกล่าว
ส่วนในประเด็นที่เฟดคาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในปีหน้า ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งนั้น นางเยลเลนกล่าวว่า การคาดการณ์ดังกล่าว ” มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น “
นางเยลเลนยังกล่าวถึงกรณีที่ชาวอเมริกันบางกลุ่มได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่จะมีต่อสถานะการเงินส่วนบุคคล โดยเธอกล่าวว่า ชาวอเมริกันควรเข้าใจว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในความคืบหน้าทางเศรษฐกิจ และมุมมองของเฟดจะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง พร้อมกับกล่าวว่า ในปีหน้านี้ อาจจะมีผลกระทบเล็กน้อยจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ส่วนคำถามของผู้สื่อข่าวที่ว่า นโยบายการคลังของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดี ซึ่งรวมถึงการกระตุ้นการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานและการปรับลดภาษีนั้น จะมีผลต่อการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดอย่างไรนั้น นางเยลเลนกล่าวว่า ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะตัดสินว่า นโยบายการคลังของทรัมป์จะส่งผลกระทบต่อนโยบายเฟด แต่คณะกรรมการ FOMC ได้หารือกันในเรื่องดังกล่าว ในระหว่างการประชุมครั้งนี้
ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ว่า เป็นสิ่งที่ตลาดคาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่า ในที่สุดเฟดจะต้องตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หลายตัวต่างมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ หากเฟดตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำไว้นานจนเกินไป และปล่อยให้เงินไหลออกสู่ตลาดเช่นนี้ ก็จะส่งผลให้เป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เอง
” การที่เฟดขึ้นดอกเบี้ย ก็เป็นเรื่องที่ตลาดคาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่าจะต้องเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ เพราะดูตัวเลขเศรษฐกิจก็ดีขึ้น ซึ่งการที่สหรัฐฯ คงดอกเบี้ยไว้ต่ำๆ โดยมีเงินปล่อยออกมาในตลาดมากแบบนี้ ก็จะเป็นความเสี่ยงของสหรัฐฯ ถ้าเกิดอะไรขึ้นมา เขาอาจจะมีปัญหาได้ เพราะฉะนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เขาจะต้องแก้ปัญหานี้ และดึงให้อัตราดอกเบี้ยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ “
ส่วนผลกระทบที่จะมีต่อภาวะการเงินและค่าเงินของไทยหลังเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยนั้น นายอภิศักดิ์ เชื่อว่า ผลกระทบจะมีน้อย เพราะเงินกู้ของไทยที่เป็นเงินตราต่างประเทศมีน้อยมากเพียง 4% เท่านั้น ขณะที่เงินกู้ส่วนของไทยอยู่ในประเทศถึง 96% จึงไม่ค่อยมีผลกระทบมากนัก แต่ในช่วงนี้ อาจจะมีความผันผวนเรื่องของเงินทุนเคลื่อนย้ายบ้าง แต่ถือเป็นเรื่องปกติซึ่งเป็นหน้าที่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องดูแล.