ธ.ก.ส.ร่วม สวทช.ดันนวัตกรรมเกษตรดิจิทัล
ธ.ก.ส. ผนึก สวทช. ร่วมพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมการเกษตรดิจิทัล หนุนเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ SMEs เกษตร นำเทคโนโลยีมาเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของห่วงโซ่คุณค่าอุตสาหกรรมการเกษตร พร้อมพัฒนาทางการเงินและการสาธารณสุข นำสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผจก.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวภายหลังพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วย “ความร่วมมือทางวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยี” กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้การนำของนายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผอ.สวทช. ว่า เป็นไปเพื่อส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศด้านนวัตกรรมการเกษตรดิจิทัล สุขภาพการแพทย์สาธารณสุข สังคม และองค์กร โดยใช้กลุ่มเทคโนโลยีเป้าหมาย หรือ Technology Development Groups (TDGs) นำไปวิเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์ข้อมูล ต่อยอดเพื่อสร้างความยั่งยืนและความสามารถในการแข่งขันให้แก่อุตสาหกรรมภาคเกษตรไทย
เนื่องจาก ธ.ก.ส. มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตร ให้เข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยี เพื่อนำมาพัฒนากระบวนการเพาะปลูกให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น รวมถึงมีการส่งเสริมให้ปรับการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรที่ทันสมัย โดยการร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้เกษตรกรและผู้ประกอบการด้านการเกษตร สามารถนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากงานวิจัยมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน ลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศได้
นอกจากนี้ ธ.ก.ส. และ สวทช. ยังร่วมแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของทั้งสองฝ่าย ผ่านสื่อต่างๆ อันเป็นประโยชน์ต่อสังคม ทั้งภาคอุตสาหกรรมการเกษตร การผลิต การบริการทางการเงิน และบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อให้บริการแก่ประชาชนและเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเกษตรกรไทย และสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศต่อไป
ด้าน นายณรงค์กล่าวว่า สวทช. ได้ดำเนินงานด้านการวิจัย พัฒนา และสร้างนวัตกรรมที่มีคุณภาพ โดยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในการสร้างนวัตกรรมที่ใช้ได้จริง ซึ่งการลงนามความร่วมมือกับ ธ.ก.ส. ในการดำเนินงานระยะแรก ทาง สวทช. พร้อมสนับสนุนเทคโนโลยีให้กับเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. รวมถึงเทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการให้กับ ธ.ก.ส. อาทิ ด้านการเกษตร ได้แก่ การพัฒนาแอปพลิเคชั่นระบบบริหารจัดการปฏิทินการเพาะปลูก “ชาวเกษตร”, ระบบ AquaGrow
ประกอบด้วย เครื่องวัดออกซิเจนละลายในน้ำ (DO Meter) เครื่องมินิมอลแลบ สำหรับใช้ติดตามสมดุลแบคทีเรีย และ อุปกรณ์สำหรับวัดสารเคมีในน้ำ (ChemEye) รวมทั้งระบบโรงเรือนอัจฉริยะ ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีเซนเซอร์ ระบบ IoT และระบบควบคุม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตพืชผัก ด้านการเงิน ได้พัฒนาเครื่องสุ่มเชิงควอนตัม (RandomQ) สำหรับใช้ในการจับรางวัลพิเศษของกิจกรรมการจับรางวัลเงินฝากออมทรัพย์ทวีโชค และด้านสารสนเทศ นำระบบ TPMAP (Thai People Map and Analytics Platform : TPMAP) ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า สำหรับใช้ในการพัฒนาคนตลอดทุกช่วงวัย โดยเริ่ม ที่การระบุปัญหาความยากจนและขยายเป็นเรื่องการพัฒนาคนมาใช้ เป็นต้น
“ด้วยประสิทธิภาพและศักยภาพของกลุ่มเทคโนโลยีเป้าหมาย หรือ Technology Development Groups (TDGs) รวมทั้งการผสานความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบการเทคโนโลยีการเกษตร จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของห่วงโซ่คุณค่า และสร้างการเติบโตของภาคเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพ ทั้งพัฒนาสมรรถนะความสามารถและกระบวนการเรียนรู้ของเกษตรกรและชุมชน สร้างการเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือจากภาคการผลิตสู่ภาคการตลาดและความยั่งยืนให้กับประเทศในมิติต่างๆ เช่น การพัฒนานวัตกรรมการเกษตร พัฒนานวัตกรรมบริการดิจิทัล (Digital Service Innovation) และการวิเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์ด้วยข้อมูล (Strategic Data Analysis) เพื่อเพิ่มมูลค่าการบริการลูกค้าของ ธ.ก.ส. ให้ได้รับประโยชน์และเกิดการต่อยอดต่อไป” ผอ.สวทช. ย้ำ.