จีนแก้ปัญหามลพิษ ช่วยชีวิตพลเมืองหลายแสน
(CNN) – นโยบายทำให้อากาศสะอาดของจีนช่วยชีวิตพลเมืองได้หลายแสนคนเฉพาะแค่ในปี 2560 เพียงปีเดียว จากผลการวิจัยล่าสุด
มลพิษลดลงอย่างรวดเร็วหลังจากจีนมีกฎหมายใหม่ที่ควบคุมการปล่อยมลพิษของอุตสาหกรรม และส่งเสริมให้ใช้พลังงานสะอาด จากผลการศึกษาที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 18 พ.ย.ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America (PNAS).
โดยผลการศึกษา ซึ่งมุ่งเน้นในช่วงปี 2556 – 2560 จัดทำโดยกลุ่มนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ชาวจีน
ฝุ่นพิษ PM2.5 คือมลพิษขนาดเล็กจิ๋วที่สามารถแทรกซึมเข้าไปในกระแสเลือด และอาจทำให้เป็นมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง และมีภาวะหัวใจวายในระยะยาว
หลังจากมีการเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมและการกำกับดูแลที่ไม่จริงจัง ทำให้จีนเป็นที่รู้จักว่ามีหลายเมืองที่เต็มไปด้วยมลพิษและคุณภาพอากาศเลวร้าย ทางการจีนจึงเริ่มแก้ไขปัญหามลพิษอย่างจริงจังในปี 2551
ในปี 2556 กรุงปักกิ่งมีปริมาณความหนาแน่นของฝุ่นพิษPM2.5 มากกว่าระดับที่องค์การอนามัยโลกแนะนำถึง 40 เท่า และรัฐบาลเริ่มใช้นโยบายอากาศสะอาดที่เข้มงวดที่สุดในปีเดียวกันนั้น
ผลการศึกษาพบว่า ระดับฝุ่นพิษPM2.5 “ลดลงอย่างชัดเจน” ทั่วประเทศจีนในปี 2556 – 2560 สอดคล้องกับมาตรฐานใหม่ของโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรม ที่มาแทนที่โรงงานแบบเก่า และมีการกำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษใหม่ของรถยนต์
โดยผู้จัดทำรายงานยืนยันถึงประสิทธิภาพในการปรับปรุงให้อากาศสะอาดขึ้นในจีนเห็นได้จากกรุงปักกิ่งที่ไม่ติดอยู่ใน 100 เมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในเอเชีย โดยระดับมลพิษในอากาศลดลง 10% ในหลายเมืองของจีนในระหว่างปี 2554 – 2555 จากรายงานของ Greenpeace และ AirVisual
นครเซี่ยงไฮ้ เมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและเป็นศูนย์กลางการเงิน ก็มีความก้าวหน้าด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีการกำกับดูแลการรีไซเคิลขยะที่เข้มงวด
แม้จะมีความก้าวหน้า แต่จีนก็ยังประสบปัญหาในการรับมือ การกดดันพลเมืองเป็นแรงขับเคลื่อนนโยบายควบคุมปัญหามลพิษในจีน และมักมีการประท้วงต่อต้านเกี่ยวกับประเด็นนี้อยู่บ้างในช่วงหลายปีมานี้
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนต้องเผชิญเรื่องยากคือต้องรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ต้องหลีกเลี่ยงมาตรการที่อาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงด้วย ก่อนหน้านี้ จีนเร่งให้เศรษฐกิจขยายตัวเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยประชาชนไม่ได้เรียกร้องให้มีมาตรฐานความปลอดภัยและการปล่อยมลพิษเข้มงวดเหมือนในปัจจุบัน
มลพิษในอากาศเป็นประเด็นปัญหาทั่วโลก และอินเดียในตอนนี้ มี 22 – 30 เมืองที่ติดอันดับเมืองที่มีมลพิษสูงที่สุดในโลก จากรายงานของ Greenpeace /AirVisual
ในสหรัฐฯ มีการศึกษาล่าสุดที่พบว่า มลพิษเป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากถึง 107,000 รายในปี 2554 และก่อให้เกิดความเสียหายกับประเทศถึง 866,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( 26.25 ล้านล้านบาท )