คลังเทงบกลางปีพุ่งแตะ 1.9 แสนล้าน
กระทรวงการคลังหวั่นเศรษฐกิจไทยปีหน้าทรุด โตไม่ตรงตามเป้าหมายสั่งสำนักงบประมาณเพิ่มกลางปี 2560 จากแผนเดิมจะใช้เพียง 100,000 ล้านบาท เข็นเพิ่มขึ้นเป็น 190,000 ล้านบาท กระจายสู่หัวเมืองและชนบททั่วประเทศ
“ งบประมาณกลางปีที่เพิ่มขึ้นเป็น 190,000 ล้านบาท ยังไม่ชนเพดาน ตามพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณที่กำหนดให้กระทรวงการคลังกู้ได้ไม่เกิน 20% ของจำนวนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี แต่ไม่เกิน 80% ของงบชำระหนี้คืนต้นเงินกู้ ” นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวถึงวินัยการเงินการคลังของประเทศ ที่ยังมีความแข็งแกร่งและมั่นคง ซึ่งกลายเป็นที่มาของการตั้งงบประมาณกลางปี 2560 จากเดิมที่กำหนดเอาไว้ว่าจะเพิ่ม 100,000 ล้านบาท ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.59 คณะรัฐมนมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติเพิ่มงบประมาณกลางปีขึ้นเป็น 190,000 ล้านบาท
ขณะที่นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบจัดทำแผนงบประมาณกลางปี 2560 ในวงเงิน 190,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น แหล่งเงินมาจากภาษีและรายได้อื่น 27,000 ล้านบาท เพื่อมาชดเชยเงินคงคลัง และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณจำนวน 162,000 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังจะออกพันธบัตรออมทรัพย์มาใช้ดำเนินการในส่วนนี้
สำหรับการออกพันธบัตรออมทรัพย์ 162,000 ล้านบาทนั้น จะนำมาใช้บริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ 100,000 ล้านบาท และเงินพัฒนากองทุนหมู่บ้านแห่งละ 500,000 บาท วงเงินรวม 60,000 ล้านบาท โดยจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายในเดือน ม.ค.60
ทั้งนี้ กรอบวงเงินสูงสุดที่รัฐบาลกู้ได้ตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 ได้ไม่เกิน 611,549 ล้านบาท แต่ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายขาดดุล 390,000 ล้านบาท ดังนั้น จึงยังมีวงเงินกู้ที่สามารถกู้เพิ่มเติมเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอีก 221,549.4 ล้านบาท สำหรับการตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังครั้งนี้ กระทรวงการคลังแจ้งว่า แหล่งที่มาของรายได้สำหรับชดใช้เงินคงคลังจะมาจากรายได้สภาพคล่องส่วนเกิน และกำไรสะสมของรัฐวิสาหกิจและส่วนราชการอื่น
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบในหลักการให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการตามแนวทางการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งจะเป็นคณะกรรมการที่มีความสำคัญในการกลั่นกรองการจัดทำงบประมาณและโครงการสำหรับการลงทุนในกลุ่มจังหวัดทั้ง 18 จังหวัด โดยผู้แทนประกอบไปด้วยสำนักงบประมาณ ผู้แทนจากกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ตัวแทนจากภาคเอกชนที่เป็นตัวแทนของคณะกรรมการร่วมรัฐและเอกชน (กรอ.) รวมทั้งตัวแทนจากภาคประชาชน
โดยคณะกรรมการชุดนี้ทำหน้าที่การกลั่นกรองโครงการต่างๆ ที่กลุ่มจังหวัดมีการเสนอเข้ามาภายในวันที่ 28 ธ.ค.นี้ ตั้งแต่ขั้นตอนการเสนอโครงการที่จะมีการทำการประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์กช็อป) ร่วมกัน จากนั้นคณะกรรมการกลั่นกรองฯ จะพิจารณาโครงการต่างๆ ให้แล้วเสร็จภายใน 5-7 วัน และนำเสนอ ครม.ภายในวันที่ 17 ม.ค.2560 และภายหลังจาก ครม.เห็นชอบจะได้นำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้ พ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติมปี 2560 มีผลบังคับใช้ในเดือน ก.พ.ปีหน้า.