ลุ้น!! ถึงคิว “ป.ป.ช.” จ่อถูกเซตซีโร่
ประธานคณะกรรมการป.ป.ช. พร้อมทำตามกติกาใหม่ หากทั้งคณะจะถูกเซตซีโร่ตามกฎหมายใหม่ เหมือนที่ กกต. และกสม. ถูกเซตซีโร่ไปก่อนหน้านี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ถูกเซตซีโร่ ไปแล้วด้วยการที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านร่างกฎหมายของ 2 หน่วยงาน และคิวต่อไปกำลังมีการพิจารณาร่างกฎหมายของคณะกรรมการป.ป.ช. ซึ่งอาจจจะต้องเซตซีโร่เช่นกัน
โดยเมื่อวันที่ 23-24 ก.ย. ที่ผ่านมา แม้ว่าจะเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ แต่ปรากฏว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ประชุมนัดพิเศษในวันหยุดเป็นครั้งแรก โดยมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.เป็นประธานการประชุม
นายมีชัย กล่าวว่าเหตุผลที่ กรธ.มีการประชุมนัดพิเศษในช่วงวันหยุด ว่า เป็นเพราะการจัดทำร่างกฎหมายลูกไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ จึงได้เพิ่มการประชุมในวันเสาร์และวันอาทิตย์ พร้อมยืนยันว่า กรธ.ประชุมจัดทำร่างกฎหมายลูกอย่างเต็มที่ทุกวัน แต่หากเสร็จไม่ทันตามเวลา อาจจะต้องประชุมยาวไปถึงช่วงกลางคืนด้วย เพื่อให้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วย ป.ป.ช.แล้วเสร็จอย่างช้าภายในต้นเดือนตุลาคมนี้ โดยจะเริ่มพิจารณาทั้งฉบับตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งนี้ มีหลายหลักการในร่างกฎหมายลูกฉบับนี้ ที่ได้ข้อสรุปเบื้องต้นบ้างแล้ว แต่จะแถลงให้ทราบในภายหลัง
“กรธ.ยังไม่ได้มีการหารือถึงการเซตซีโร่คณะกรรมการป.ป.ช. เพราะยังพิจารณาไม่ถึงในหมวดดังกล่าว ขณะที่ ป.ป.ช.จังหวัด ยังให้คงมีอยู่ แต่กำหนดให้ทำงานในเชิงรุกมากกว่าการสอบสวน เน้นเรื่องประชาสัมพันธ์ และการดูแลเรื่องทรัพย์สิน” นายมีชัย กล่าว
ส่วนอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.จะเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมาก กลไกที่จะทำให้เกิดผลตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดนั้น เป็นเรื่องยากที่ต้องมาพิจารณา และพยายามปรับปรุงให้เดินหน้าเร็วขึ้น มีขั้นตอนมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการฟ้องคดี จะได้ไม่ต้องโยนกันไปโยนกันมาระหว่าง ป.ป.ช.กับ อัยการ ต้องทำให้ชัดเจนว่า แต่ละฝ่ายมีเวลากี่วัน ใครต้องรับผิดชอบอย่างไร
ด้าน พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานป.ป.ช. ระบุว่า เท่าที่เห็นเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ ตามที่ กรธ. เสนอมา คิดว่าคงไม่มีผลกระทบอะไรกับ ป.ป.ช. มากนัก เชื่อว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้มากขึ้น เช่น กำหนดให้ใช้ระยะเวลาไต่สวนแต่ละคดีไม่เกิน 2 ปี เป็นสิ่งที่ ป.ป.ช. เคยเสนอต่อ กรธ. ถึงแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานไปแล้ว แต่ยังห่วงใยว่า บางคดีที่มีพยานหลักฐานมากมาย หรือเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือทางอาญา อาจต้องใช้เวลานานขึ้น เรื่องการเร่งการไต่สวนคดี ป.ป.ช. ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามปรับปรุงระเบียบการไต่สวน การแสวงหาข้อเท็จจริงมาตลอดให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
“ยอมรับว่าร่าง พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับใหม่ ที่กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการ ป.ป.ช. อย่างเข้มงวด อาจมีผลทำให้กรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่งถึง 7 ราย แต่ผู้ที่จะชี้ขาดจริง ๆ ว่า กรรมการ ป.ป.ช. รายใดบ้างที่จะพ้นตำแหน่งคือ คณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระ จึงต้องรอดูมติดังกล่าวก่อน ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะยังเป็นเรื่องอีกไกล ขอรอดูมติ สนช. ก่อนว่า จะให้เหตุผลเช่นใด แต่สุดท้ายไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ป.ป.ช. ยินดีรับกติกาฉบับใหม่ ถ้าต้องพ้นจริง ๆ ถือว่าได้พักผ่อน”.