เพื่อไทยผวา กฎหมายดำเนินคดีนักการเมืองลับหลัง
หลังจาก สนช.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็มีเสียงคัดค้านตามออกมาทันที โดยเฉพาะการดำเนินคดีนักการเมืองที่หนีคดีแบบลับหลัง
นายชูศักดิ์ ศิรินิล ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย อ่านแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยจำนวน 3 ข้อ ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมาย โดยตอนหนึ่งระบุว่า “ พรรคเพื่อไทยตระหนักว่าการทุจริตและประพฤติมิชอบนั้นเป็นภัยอันร้ายแรงของชาติ และเห็นด้วยต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในทุกรูปแบบแต่จะต้องกระทำโดยยึดหลักนิติธรรม รัฐธรรมนูญและพันธะกรณีระหว่างประเทศโดยเคร่งครัดตามที่กล่าวมาข้างต้น เพราะมิเช่นนั้นจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาอย่างร้ายแรงและไม่เป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ ซึ่งพรรคจะได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอไปยังองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อพิจารณาต่อไป ขณะเดียวกันก็จะทำหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ด้วย “
ส่วน นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวยืนยันว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่มีส่วนไหนที่ขัดต่อการอำนวยความยุติธรรม หรือไปตัดสิทธิ์ ผู้ที่ถูกกล่าวหา อีกทั้งยังให้สิทธิมากกว่าปกติด้วยซ้ำ ยกเว้นการหลบหนี ซึ่งไม่ถือเป็นสิทธิ์ และไม่ได้ตัดสิทธิ์ทีจะส่งทนายมาต่อสู้คดี เพราะต้องเข้าใจว่า หลักการให้ความเป็นธรรมจะต้องให้ความเป็นธรรมต่อสังคมโดยรวม และตามหลักสากลก็มีข้อยกเว้นว่า หากหลบหนีก็สามารถพิจารณาคดีลับหลังได้
” ตามร่างกฎหมายนี้ได้มีการปรับแก้เรื่องการอุทรณ์ โดยจะเปิดโอกาสให้อุทธรณ์ได้ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย แต่เจ้าตัวต้องมาอุทธรณ์เอง ไม่ใช่หนีไปแล้วมาอุทรณ์ นอกจากนี้เวลาที่ฟ้องนั้น จะไม่ให้เอาอายุความเรื่องการฟ้องคดีมาใช้ เมื่อฟ้องแล้ว คดีที่จะขาดอายุความก็จะไม่ขาด โดยศาลฯจะพิจารณาไปได้จนจบ และหากพบว่าผิด จึงจะเริ่มนับอายุความอายุความในวันที่ตัดสินและยืนยันว่าเมื่อกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะไม่ได้นำมาใช้ในคดีของผู้ที่หนีคดีไปก่อนหน้านี้ ซึ่งรวมถึงคดีของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ด้วย เพราะกฎหมายนี้จะใช้สำหรับคดีที่จะฟ้องใหม่ ไม่มีการใช้ย้อนหลัง เว้นแต่เห็นว่าคดีไหนที่ยังไม่ขาดอายุความ ก็สามารถฟ้องใหม่ได้ แต่จะต้องเริ่มกระบวนการใหม่นับหนึ่งแต่งตั้งขั้นตอนฟ้องในตอนแรก ” นายมีชัย กล่าว
ทีมข่าว AEC10News ตรวจสอบคดีสำคัญที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่มีคำพิพากษาอดีตนักการเมือง แต่กลับหลบหนีไม่กลับมารับโทษมีหลายคดี แต่ที่สำคัญๆ อาทิ นายประชา มาลีนนท์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย อยู่ระหว่างหลบหนีคดีที่ต้องโทษจำคุก 12 ปี คดีทุจริตรถ-เรือดับเพลิงกทม. โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาเมื่อวันที่ 10 เดือน กันยายน พ.ศ. 2556 นายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีช่วยกระทรวงมหาดไทย ก็หลบหนีคดี ไม่กลับมารับโทษจำคุก 10 ปี ในคดีการทุจริตโครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ซึ่งศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2551
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีคดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมากที่สุด เริ่มจาก 17 กันยายน 2551 ศาลฯตัดสินจำคุก 2 ปี จากคดีทุจริตประมูลซื้อที่ดินรัชดาภิเษก แต่นายทักษิณ หนีออกนอกประเทศไปก่อนที่จะมีการพิพากษา ทำให้คดีอื่นๆที่ยื่นฟ้องนายทักษิณที่ค้างในศาล ไม่ได้ฟังคำพิพากษาด้วยตัวเอง เช่น คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้บริษัทกฤษดามหานคร ที่นายไม่ปรากฏตัวที่ศาลตั้งแต่การพิจารณาคดีนัดแรก ทำให้องค์คณะฯออกหมายจับทักษิณ พร้อมกับจำหน่ายชื่อออกจากสารบบคดีเอาไว้ชั่วคราว จึงทำให้กระบวนการพิจารณาไต่สวนพยานในส่วนของทักษิณ ไม่เกิดขึ้น
คดีที่ศาลได้สั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราวเนื่องจากหนีคดี คือ คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว หรือคดีหวยบนดิน คดีธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ปล่อยเงินกู้ให้กับรัฐบาลพม่า จำนวน 4,000 ล้านบาท คดีทุจริตออกกฎหมายแก้ไขค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือ – ดาวเทียม เป็นภาษีสรรพสามิต เอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท.