จ่อ “เซ็ตซีโร่” กกต.5 เสือไม่ต้องอยู่จนครบวาระ
ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติไม่ให้ กกต.ชุดปัจจุบันทั้ง 5 คนอยู่ในตำแหน่งจนครบวาระ ด้วยการ “เซตซีโร่”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กมธ.ฯที่มีนายตวง อันทะไชย เป็นประธานการประชุม พิจารณาถึงประเด็นคุณสมบัติของกกต.ชุดปัจจุบันทั้ง 5 คน ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)เสนอให้กกต.ที่มีคุณสมบัติไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญปี 2560 พ้นจากตำแหน่ง เมื่อร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ ที่ประชุมกมธ.มีความเห็นต่างจากที่กรธ.เสนอมา โดยมีมติเสียงข้างมากให้ “เซตซีโร” กกต.ทั้ง 5 คน ต้องสิ้นสภาพการเป็นกกต.ทันที เมื่อร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ แต่ยังให้ทำหน้าที่รักษาการในตำแหน่งกกต.ต่อไป จนกว่าจะมีการสรรหากกต.ชุดใหม่ 7 คน เข้ามาทำหน้าที่แทน โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2560 มีการเพิ่มอำนาจหน้าที่แก่กกต.ไว้สูงมาก จึงควรกำหนดคุณสมบัติกกต.ให้เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นจึงให้มีการสรรหากกต.ใหม่ทั้งหมด
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง กล่าวถึงมติให้เซตซีโร่ กกต.ว่า ประธาน กกต.ได้แจ้งในที่ประชุม มติดังกล่าวแล้ว ซึ่งต้องรอดูว่าในวันที่ 9 มิถุนายนนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. จะลงมติเป็นไปในทิศทางใด เมื่อกฎหมายผ่าน สนช.จะต้องส่งร่างกฎหมายมาให้ กกต. และศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน 15 วัน หาก กกต.หรือศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นว่าสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ สามารถส่งเรื่องไปยัง สนช.เพื่อให้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมจำนวน 11 คนได้
“แต่ขณะนี้ กกต.ยังไม่มีธงว่าจะต้องความเห็นแย้งหรือไม่ เพราะต้องรอดูเนื้อหาของร่างกฎหมายก่อน โดยการพิจารณาของ กกต.จะตั้งอยู่บนพื้นฐานประโยชน์ของสังคมเป็นส่วนร่วม ไม่ได้มองในเรื่องคุณสมบัติว่าว่า กกต.จะอยู่หรือไม่” นายสมชัย กล่าว
ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า “เหตุผลของกมธ.ที่ว่าไม่อยากให้เกิดปัญหาการทำงานแบบปลาสองน้ำนั้น เป็นเหตุผลที่แท้จริง โดยไม่ใช่แค่เรื่องของคุณสมบัติเท่านั้น แต่เป็นเพราะกกต.มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ รวมถึงเพิ่มจำนวนกรรมการจาก 5 คน มาเป็น 7 คน ส่งผลให้โครงสร้างของกกต.เปลี่ยนไป ขณะที่องค์กรอิสระอื่นๆไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ขณะเดียวกัน ในกรรมการ 5 คนนั้น บางคนมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติซึ่งจะต้องพ้นจากตำแหน่งแม้จะเซตซีโร่หรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าองค์กรไหนเกิดปัญหาอย่างนี้ก็ต้องทำแบบเดียวกัน นี่คือคำนิยามของเซตซีโร่ที่เป็นการสรรหาใหม่เพื่อให้ที่มาเหมือนกันทั้งหมด และไม่ขอพูดว่าเห็นด้วยหรือไม่”
ส่วน “มีชัย ฤชพันธุ์” ประธานกรธ. ระบุว่า กมธ.วิสามัญของสนช.เด็ดขาดกว่ากรธ. เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหากังวลใจกรธ.มาก เนื่องจากกรธ.ปรับเปลี่ยนโครงสร้างและเพิ่มจำนวนกกต.อีก 2 คน ให้มาจากด้านกฎหมาย เพื่อมาดูแลเกี่ยวกับกติกาการจัดเลือกตั้งให้เข้มแข็งและเด็ดขาด แต่กรธ.ไม่ได้เสนอเซ็ตซีโร่กกต.แต่ที่ผ่านมาก็กังวลเรื่องการสรรหากกต.เพิ่ม 2 คน จะทำอย่างไร เพราะกกต.ชุดเดิมก็มีด้านกฎหมายอยู่แล้ว การเสนอให้เซ็ตซีโร่กกต.ถือว่าดีขึ้น ตนเห็นด้วย สำหรับกรธ.ไม่เห็นแย้งในประเด็นนี้ เพื่อให้มีการตั้งกมธ.ร่วม อีกทั้งการเซตซีโร่ยังไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญระบุว่า กรรมการองค์กรอิสระจะอยู่หรือไปขึ้นกับกฎหมายลูก กรธ.เห็นว่าองค์กรอิสระแต่ละองค์กรแตกต่างกันไปตามโครงสร้าง ขึ้นกับกฎหมายลูกขององค์กรนั้น
ขณะที่พรรคการเมืองอย่าง “ประชาธิปัตย์” อย่าง “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นว่า ถ้า กกต.มีทั้งคนใหม่และคนเก่ามาผสมกัน จะช่วยให้ได้ทั้งคนที่มีประสบการณ์และคนใหม่เข้ามาเพิ่มเติม น่าจะเป็นประโยชน์ หากจะเซ็ตซีโร่ กกต.ทั้งคณะเอาคนใหม่มาทั้งหมด ก็ต้องเร่งจัดการ เพื่อให้คนใหม่เข้ามาเตรียมการจัดการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2561 เพื่อความสุจริตเที่ยงธรรมตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และของทุกฝ่าย อาจไม่ใช่แค่ดูแลการเลือกตั้งอย่างเดียว แต่อาจต้องมาดูกลไกภายในองค์กรของ กกต. ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเดินหน้าไปสู่การทำงานที่บริสุทธิ์เที่ยงธรรมให้ได้
ด้าน “พรรคเพื่อไทย” อย่าง “นพดล ปัทมะ” แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กระบวนการออกกฎหมายต้องโปร่งใส เท่าเทียม และอธิบายได้ ดังนั้น กมธ.วิสามัญฯต้องออกมาชี้แจงให้สังคมเข้าใจ ว่าทำไมต้องเซ็ตซีโร่ กกต.ทั้งหมด ทั้งที่ กกต.บางท่านมีคุณสมบัติครบตามที่รัฐธรรมนูญใหม่กำหนด หากจะเซ็ตซีโร่ กกต. ต้องถามว่าแล้วองค์กรอิสระอื่นจะมีการเซ็ตซีโร่ด้วยหรือไม่ หรือจะสรรหาใหม่เฉพาะคนที่ขาดคุณสมบัติ ต้องออกมาอธิบายให้ชัด เพราะเรื่องภารกิจและคุณสมบัติ ต้องแยกออกจากกัน