“กกต.” ทวงสัญญาใจ จี้ “ศุภชัย” ทิ้งเก้าอี้ประธาน
ที่ประชุม กกต. มีมติให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีหนังสือสอบถามไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในประเด็นหากจะมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งประธานกกต.จะทำได้หรือไม่
และเข้าข่ายเป็นการขัดคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 40/2559 ที่ให้งดการสรรหากรรมการองค์กรอิสระทั้งหมดไว้ก่อน และให้คนเก่าดำรงตำแหน่งจนครบวาระหรือไม่
กลายเป็นประเด็นร้อนระอุขึ้นมาภายใน 5 เสือ กกต.
จากชนวนที่เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีวาระการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานกกต. แต่เมื่อเริ่มนับหนึ่งประชุมได้มีการเปิดขอ “ประชุมลับ” โดยมีหนึ่งในกกต. ได้ยกประเด็นการบริหารงานภายในสำนักงานขึ้นอภิปราย ในเชิงพุ่งเป้าตำหนิ “นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต.” ถึงข้อตกลงที่นายศุภชัยได้เคยให้ไว้เมื่อครั้งได้รับการสรรหาให้เป็นกกต.ว่า หากได้รับเลือกเป็นประธานกกต. จะดำรงตำแหน่งเพียง 2 ปี แต่ขณะนี้พบว่าพ้นระยะเวลาที่นายศุภชัย ประกาศไว้ จึงต้องมีการ “ทวงถาม” สัญญาที่ให้ไว้ก่อนหน้านี้
ทำให้ในวงประชุมวันนั้น มีการถกเถียงถึงประเด็นนี้กันอย่างดุเดือด โดยมีเสียงกกต. 3 เสียง สนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งประธานทันที ขณะที่อีก 1 เสียงกกต. ได้สงวนท่าทีสนับสนุนนายศุภชัย ทำให้สุดท้ายไม่ได้ข้อสรุปจนที่สุดต้องยุติการประชุมในวันดังกล่าว ก่อนจะนัดประชุมครั้งใหม่วันที่ 2 กันยายน ท่ามกลางแรงเสียดทานศึกในรุมทึ้งเก้าอี้ “ประธานกกต.”
“ ยืนยันว่าตัวเองไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่งประธานกกต แต่ช่วงก่อนหน้านี้กกต. มีภารกิจสำคัญที่จะต้องเตรียมเรื่องการออกเสียงประชามติ จึงอยากทำภารกิจสำคัญให้ลุล่วงไปก่อน ขณะเดียวในเรื่องข้อกฎหมายก็ยังไม่ชัดเจนว่า หากตนเองลาออกจากตำแหน่งประธานกกต.แล้ว จะทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งกกต.อื่นไปด้วยหรือไม่ เพราะถ้าไปพิจารณาคำสั่งแต่งตั้งเป็นการแต่งตั้งประธานและกรรมการ ในคำสั่งคสช.ที่ 40/2559 จึงเกรงว่าถ้าจะมีการปรับเปลี่ยนอะไรอาจเป็นการขัดคำสั่งได้ ” นายศุภชัย กล่าวยืนยัน
จากนั้นวันที่ 2 กันยายน ได้มีการประชุมกกต.อีกครั้ง วันนั้นหนึ่งกกต.ที่ทวงสัญญานายศุภชัย ได้เปิดประเด็น ขอเสนอวาระพิจารณาเปลี่ยนแปลงประธานกกต.ก่อน โดยอ้างเหตุผลทางกฎหมายที่นายศุภชัยยกขึ้นให้อยู่ตำแหน่งต่อไป เนื่องจากการลาออกจากตำแหน่งประธานกกต.ไม่ทำให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการไปด้วย เป็นกรณีเดียวที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เคยปฏิบัติมาแล้วกรณีที่ นายชัช ชลวร ลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังเป็นตุลาการฯ จนปัจจุบัน โดยเฉพาะจากคำสั่งคสช.ที่ 40/2559 เป็นกรณีการห้ามสรรหาใหม่เท่านั้น จึงไม่มีผลหากนายศุภชัยจะลาออกจากตำแหน่งประธานกกต. เพราะก็ยังเป็นกรรมการ ไม่ต้องมีเรื่องต้องสรรหาใหม่ขึ้นมา
ศึกในกกต.ยังคงฝุ่นตลบ เผือกร้อนตกไปอยู่ที่การตัดสินใจของคสช. ท่ามกลางกระแสข่าวเปิดโอกาสให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.” ประกาศใช้มาตรา 44 เข้ายุติปัญหากกต.ทั้งหมด ภายหลังกกต.ชุดนี้จบภารกิจสำคัญในการทำประชามติ การยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้ดำเนินการเสร็จสิ้น ที่สำคัญในเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญก็บัญญัติให้กกต.ชุดใหม่จาก 5 คนเป็น 7 คน หากเกิดสูญญากาศมากนัก
“วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย” ส่งสัญญาณถึงกกต.ทันทีว่า การเปลี่ยนแปลงในช่วงนี้อาจไม่เหมาะสม การยกคำสั่งให้สำนักงานฯ ทำหนังสือไปถามความขัดเจนจากคสช.จึงต้องตกไป เพราะมีการตกลงว่าในช่วงนี้กกต. มีภาระต้องผลักดันกฎหมายลูก 4 ฉบับให้เสร็จสิ้นก่อน จึงจะกลับมาเคลียร์ใจประเด็นร้อนเก้าอี้ประธานในช่วงต้นเดือนตุลาคม
“แต่ใน “เส้นตาย” ของ 3 กกต.หากพบว่าในช่วงนั้นถ้าสถานการณ์ยังคลุมเครือ จะต้องทวงถามความชัดเจนกับนายศุภชัยอีกครั้ง”.