“จิรชัย” ได้ดี แถม มี “ม.44” คอยคุ้มกัน
คณะรัฐมนตรี มีมติแต่งตั้ง “นายจิรชัย มูลทองโร่ย” รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะ “ประธานกรรมการสอบข้อเท็จจริงความผิดทางละเมิดโครงการรับจำนำข้าว”
ให้นั่งเก้าอี้ “ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี” มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2559 รับไม้ต่อจาก “ พลตำรวจเอก เอกอังสนานนท์ ” ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.
เป็นที่น่าสังเกตว่า การแต่งตั้ง “จิรชัย” ให้ได้ดิบได้ดีขึ้นในครั้งนี้ แทบจะไม่ต้องมีคำถามตามมาเลยว่า นายจิรชัยมีผลงานอะไรโดดเด่นจึงได้ครองตำแหน่งปลัดสำนักนายกฯ
เพราะการันตีได้จากภารกิจใหญ่ ในการตรวจสอบโครงการทุจริตรับจำนำข้าวของรัฐบาล “อดีตนายกฯ หญิง” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ตรวจสอบตามกรอบเวลา และชงเรื่องพ้นรั้วทำเนียบไปยังกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ เพื่อฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายจากโครงการนี้ต่อไป
ถามว่า ทำไม “จิรชัย” ถึงทำภารกิจนี้สำเร็จให้ข้ามรั้วทำเนียบรัฐบาลไปได้
คำตอบก็คือ “บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” ในฐานะหัวหน้าคสช. หนุนสุดตัวในการเดินหน้าตรวจสอบเพื่อเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาลจากโครงการนี้
ที่ต้องย้อนไปดู “คําสั่งหัวหน้าคสช. 39/2558 เรื่องการคุ้มครองการบริหารจัดการข้าวคงเหลือในการดูแลรักษาของรัฐ และการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิด” ที่คำสั่งนี้มีไฮไลท์ ระบุว่า
“ ให้บุคคล คณะบุคคล คณะทํางาน คณะกรรมการ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมาย หรือได้รับมอบหมายจากหัวหน้า คสช. คสช. นายกฯ ครม.หรือคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว ให้ดําเนินการบริหารจัดการข้าวที่อยู่ในการดูแลรักษาของรัฐตามโครงการรับจํานําข้าวเปลือกของรัฐ ตั้งแต่ปีการผลิต 48/49 จนถึงปีการผลิต 56/57 ซึ่งได้ดําเนินการมาตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.57 หรือภายหลังจากนั้น ยังคงมีอํานาจหน้าที่ดําเนินการดังกล่าวต่อไปเช่นเดิม ทั้งนี้เพื่อระงับยับยั้งมิให้เกิดความเสียหายแก่รัฐเพิ่มขึ้น เพราะเหตุแห่งความเสื่อมสภาพของข้าว ความแตกต่างระหว่างราคาข้าวที่รับจํานํากับราคาที่จําหน่ายได้ การที่รัฐต้องรับภาระ ค่าเช่าคลัง ค่าประกันภัย ค่าดูแล รักษาคุณภาพข้าว ค่าใช้จ่ายอื่นและดอกเบี้ยและเพื่อป้องกันมิให้การระบายข้าวเป็นการเพิ่มอุปทาน ในตลาดในช่วงเวลาเดียวกับที่มีผลผลิตฤดูกาลใหม่โดยไม่สมควร รวมทั้งดําเนินการเพื่อให้ทราบตัวผู้ต้องรับผิด และเรียกให้ผู้นั้นชดใช้ความเสียหายแก่รัฐตามกฎหมาย ในกรณีที่บุคคลตามวรรคหนึ่งดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ และได้กระทําโดยสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครอง ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย ”
กล่าวได้ว่า การทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ทำคดีรับจำนำข้าว ได้รับความคุ้มครองการฟ้องกลับในอนาคต ที่ไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง อาญาและวินัย หากทำด้วยความสุจริต
จึงไม่ต้องแปลกใจที่หลายต่อหลายครั้งในรอบ 2 ปี ที่คสช.เข้าควบคุมอำนาจ จะเห็น “จิรชัย” ให้สัมภาษณ์ตอบโต้กับ “อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์” แบบถึงลูกถึงคนแบบยืนบนหลักการ
ส่วนหลักการคิดค่าความเสียหาย จะคิดจากการบริหารจัดการระบายข้าว ที่ไม่เป็นไปตามรูปแบบที่ถูกต้องและชัดเจนจนก่อให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่น เปิดช่องโหว่ให้มีการแสวงหาผลประโยชน์ โดยไม่มีการติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด จนก่อให้เกิดความเสียหาย ดังนั้นในฐานะนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการนโยบายข้าว (กขช.) ต้องรับผิดชอบ ทั้งนี้ ยืนยันว่าคณะกรรมการฯ ดำเนินการตามกฎหมายละเมิด ไม่มีผู้ใดมาชี้นำหรือกำหนดทิศทางการทำงาน และที่ผ่านมาได้เปิดโอกาสให้เพิ่มเติมพยานหลักฐานมาโดยตลอด รวมถึงการประชุมกันทุกครั้งเพื่อแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรม
ขณะที่ พลเอกประยุทธ์ ที่มักจะถูกถามถึงข้อสรุปตัวเลขความเสียหายที่พูดไปหลายกระแสว่าเกิดความเสียหายตั้ง 1 แสนล้านจนถึง 5 แสนล้านบาท
“จริงๆ แล้วไม่ว่าตัวเลขจะมากจะน้อยยังไงก็ตาม มันต้องส่งให้กระบวนการยุติธรรมไป ขึ้นศาล ผู้ถูกกล่าวหาสามารถสู้ในศาลได้ ถ้าเรียกเขาเยอะ แต่เขาผิดน้อย เขาก็สามารถสู้ในศาลเพื่อให้เรียกน้อยได้ หรือไม่เสนอไปเขาอาจจะเรียกเพิ่มก็ได้ ทั้งหมดอยู่ที่ศาล ไม่ได้อยู่ที่ตน เขาต้องไปเรียกพยานหลักฐานมาเพิ่มอีก ไม่สรุปจากตรงนี้ ตนบอกแล้วทุกอย่างใช้กระบวนการยุติธรรม ซึ่งตัวเลขที่เกิดขึ้นนี้เป็นการสำรวจจากบัญชี จากคลัง จากส่วนต่างๆ
ดังนั้น คดีรับจำนำข้าว ที่คาดการณ์กันว่าจะเป็นมหากาพย์อีกนาน แต่เชื่อได้ว่าตราบใดที่ พลเอกประยุทธ์ยังอยู่ คำสั่งหัวหน้าคสชซตามม.44 ยังคุ้มครองอยู่ ต่อให้ “จิรชัย” พ้นจากเก้าอี้ปลัดสำนักนายกฯ ไป ก็ยังปลอดภัยอยู่เสมอหากต้องเจอคดีฟ้องกลับหลังเกษียณอายุราชการ.