งัดม.44 สางปมเข้าใจผิดทางศาสนาใน “3จว.ใต้”
หัวหน้าคสช.อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่49/2559 คุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น
เนื่องจากปัจจุบันมีบางฝ่ายนำความแตกต่างของศาสนามาขยายความหรือบิดเบือนให้เป็นความขัดแย้งในหมู่ศาสนิกชน คสช.จึงมีคำสั่งให้ทุกหน่วยงานมีหน้าที่อุปถัมภ์และคุ้มครองทุกศาสนา ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธศาสนาตามแบบมหายาน, ศาสนาอิสลาม , ศาสนาคริสต์, ศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู และศาสนาซิกข์ โดยหน่วยงานของรัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา และการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนที่ถูกต้องตามแนวทางในแต่ละศาสนา โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย
นี่คือเนื้อหาของ ประกาศคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เพื่อหวังแก้ปัญหากรณีที่บางฝ่ายนำความแตกต่างทางศาสนาไปบิดเบือนเพื่อสร้างความขัดแย้งในหมู่ศาสนิกชน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าคำสั่งดังกล่าวมาจากผลพวงเหตุ “แขวนป้าย – ฉีดสีสเปรย์” ไม่เอาร่างรัฐธรรมนูญในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ถูกปลุกกระแสอย่างต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่ก่อนวันลงประชามติ 7 ส.ค.ด้วยการเปิดประเด็นความอ่อนไหวทางศาสนา และเป็นปัจจัยสำคัญที่ฝ่ายความมั่นคงประเมินว่า เป็นปมทำให้เกิดความเข้าใจผิด ที่ส่งผลต่อการลงคะแนนไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ
เป็นที่น่าสังเกตว่า ชนวนเหตุครั้งนี้เกิดจาก ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เขียนให้มีมาตรการปกป้องพระพุทธศาสนาอย่างละเอียด แต่เขียนถึงศาสนาอื่นเพียงไม่กี่คำ
โดยเฉพาะมาตรา 67 หมวด 5 ระบุว่า “ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา และเผยแผ่หลักธรรมของพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญานั้น ส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่รัฐจะเน้นให้การอุปถัมภ์เฉพาะนิกายเถรวาท ซึ่งไม่ได้เลือกปฏิบัติแค่ศาสนาเท่านั้น แต่เลือกปฏิบัติไปถึงศาสนาพุทธนิกายอื่นๆ ที่จะไม่ได้รับการรับรอง”
จนมีผู้นำศาสนาอิสลามและผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาบางส่วน ออกมาชูธงต้านร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ ไปพร้อมขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เคลื่อนไหว เช่นกันกับการร่อนเอกสารบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ
เป็นเหตุให้ “อุดม รัฐอมฤต” โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ต้องออกมาชี้แจงทันทีว่า “เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะทำให้คนเกิดความเข้าใจว่าประเทศ ไม่มีเลือกที่รักมักที่ชัง และไม่มีการเลือกปฏิบัติระหว่างศาสนาและนิกายต่างๆ และตามเจตนาของร่างรัฐธรรมนูญแม้จะเขียนให้ทำนุบำรุงศาสนาพุทธนิกายเถรวาทที่เป็นศาสนาที่คนไทยนับถือมากที่สุด แต่ก็ไม่ได้ไปเขียนกีดกันเสรีภาพของศาสนาอื่น หรือนิกายอื่น ยืนยันว่าคนทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา และทุกศาสนาควรจะได้รับความคุ้มครอง”
ขณะที่ฟากฝั่งรัฐบาล “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ออกมาช่วยยืนยันอีกแรงว่า “คำสั่งหัวหน้า คสช. เป็นการแก้ไขสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีบางกลุ่มนำประเด็นดังกล่าวไปปลุกปั่น ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ยืนยันเราไม่มีเจตนาให้เป็นไปตามที่เขาคิด เราอาจจะเขียนไม่ชัดเจนไปหน่อย นายกฯจึงใช้วิธีการนี้เพื่อแก้ปัญหา เพราะกลัวว่าประชาชนจะคิดว่าไม่มีการดูแลศาสนาอื่น ผมเชื่อว่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น”
แต่ก็ยังไม่วาย หลังจากที่คำสั่งคสช.ดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ไม่สามารถลดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพราะมองว่าไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงไม่ได้ช่วยแก้มาตรา 67 ของร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นกฎหมายคนละฉบับที่มีอำนาจแตกต่างกัน
งานนี้ก็ได้แค่หวังว่ามาตรา 44 จะช่วยบรรเทาความไม่พอใจของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ไม่มากก็น้อยดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะมาตรา 44 ที่ประกาศออกมาเพื่อให้เห็นเลยว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับทุกศาสนา แม้จะมีการเขียนคุ้มครองทุกศาสนาไว้ในร่างรัฐธรรมแล้วก็ตาม
เอาเป็นว่าทางที่ดีรัฐบาลควรเร่งทำความเข้าใจ ปมปัญหาเรื่องศาสนาที่มีความละเอียดอ่อนเช่นนี้ ไม่เช่นนั้น หากปล่อยเรื่องนี้ไว้นานอาจบานปลายกลายเป็นประเด็นที่จะถูกนำไปขยายผลต่อเนื่องในพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความพยายามแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของฝ่ายความมั่นคงแน่นอน