เส้นทางดัน “บิ๊กตู่” สู่ “นายกคนนอก”
“ผมขอสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกตามรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีที่ดี มีความซื่อสัตย์ สุจริต และมีความสามารถ”
ออกตัวตั้งแต่หัววัน สำหรับ“ไพบูลย์ นิติตะวัน” สมาชิกสภาขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่เปิดหน้าประกาศตั้งการเมืองใหม่ “พรรคประชาชนปฏิรูป”
ชูธงดัน “บิ๊กตู่ – พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นั่งเก้าอี้ “นายกรัฐมนตรี” ต่อแบบไม่แคร์สายตาพรรคการเมืองใหญ่ พรรคการเมืองเล็ก
พร้อมตอกย้ำอย่างมั่นใจด้วยว่า “ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมรายชื่อประชาชนที่จะมาเข้าร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้งของพรรค ให้ครบทั้ง 77จังหวัด เพราะพรรคประชาชนปฏิรูป เน้นเป็นพรรคของประชาชนจึงให้ความสำคัญกับประชาชนที่อยู่ในทุกจังหวัด”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่การ “โยนหินถามทาง” ไม่ได้แค่ต้องการแค่หยั่งกระแส แต่ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” เอาจริง กับการดัน “บิ๊กตู่” ให้ลากยาวนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ผ่านกลไกใช้เสียง ส.ส. และส.ว. ในกรณีที่ ส.ส.ไม่อาจเลือกนายกรัฐมนตรีได้ในรอบแรก
หันมาดูท่าทีของผู้ที่ถูกเสนอชื่อตั้งแต่หัววันอย่างบิ๊กตู่ ที่ไม่แสดงท่าทีตอบรับ แต่ก็ไม่ “ปฏิเสธ” คำเชิญดังกล่าว บอกแต่เพียงว่า “ใครจะพูดอะไรก็พูด แล้วแต่ ผมไม่รู้”
แต่ที่น่าสนใจ คือ “บิ๊กตู่” จะขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯได้อย่างไร “พรรคประชาชนปฏิรูป” จะมีฐานเสียงสู้พรรคใหญ่ได้หรือไม่ เพราะภาคเหนือ ภาคอีสาน เป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทย ส่วนภาคกลาง ภาคใต้ และ กทม. ก็เป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์เช่นกัน
จึงสะท้อนให้เห็นว่าฐานเสียงของพรรคการเมืองยังมีความสำคัญต่อระบบการเลือกตั้ง และเป็นปัจจัยทำให้พรรคการเมืองใหม่เกิดได้ยาก ดังนั้นการจะตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาแข่งกับ “เจ้าถิ่น” ดูท่าจะยาก เพื่อหวังเขามามีบทบาททางการเมืองไม่เรียบง่ายอย่างที่คิด
ทว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เพิ่งผ่านประชามติหมาดๆ ที่มีคำถามพ่วงรวมอยู่ด้วยนั้น ระบุว่า ต้องให้ ส.ว. 250 คน ซึ่งมาจากการสรรหาหรือแต่งตั้งของ คสช. ร่วมประชุมกับ ส.ส.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี โดยต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากสองสภา “เกินกึ่งหนึ่ง” คือตั้งแต่ 376 เสียงขึ้นไป และจะต้องเลือกจากบัญชีรายชื่อของพรรคที่มี ส.ส.ตั้งแต่ 25 คนขึ้นไป
ถ้า 2 สภาฯเลือกนายกฯไม่ได้จึงจะถึงคิว “คนนอก”
ขีดเส้นใต้หน้าๆกับประเด็นที่ว่า “ถ้า 2 สภาฯเลือกนายกฯไม่ได้จึงจะถึงคิว “คนนอก” ดังนั้นจึงเป็นช่องให้ “ไพบูลย์” เสนอชื่อ “บิ๊กตู่” นั่งนายกฯต่อ เพราะหากดูตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ในมาตรา 272 ระบุว่า
“จะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีที่พรรคการ เมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้” โดยผู้ที่จะเสนอ ในมาตราดังกล่าวระบุว่า “ให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ดำเนินการ” จึงเป็นช่องในการเสนอชื่อนายกฯ คนนอกหรือ นายกฯนอกบัญชีได้
แต่อย่าลืมว่าเส้นทางที่จะไปสู่ “นายกฯคนนอก” ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ จะต้องวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพราะตามประเพณีระบบรัฐสภา นายกฯจะต้องมาจากส.ส.ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองเสียงข้างมากเท่านั้น
ฉะนั้นการจะ “ฉีกจารีต ประเพณี” ลำพังเสียงส.ว.250 คน คงสกัดกั้นการเลือกนายกรัฐมนตรีของรัฐสภาไม่ได้ นอกจากจะไปจับมือกับส.ส. เพื่อไม่ยอมเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี โดยจะต้องได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ส. 250 คน จึงจะลงมติเปิดทางให้เลือกคนนอกได้
แต่เรื่องยังไม่จบ เพราะการเมืองร้อนๆภายในรั้ว “สภาฯสูง” สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถกเถียงอำนาจส.ว. 250 คน มีคนมีอำนาจในการเสนอชื่อนายกฯตั้งแต่แรกหรือมีอำนาจแค่โหวตอย่างเดียวหรือไม่
ขณะที่ล่าสุด “บิ๊กตู่” อดร้นทนไม่ได้ ออกมาชี้แจงซ้ำอีกรอบ พร้อมขอร้องกลายๆ ว่า “อย่าสงสัยว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก ผีตัวนั้นยังมาไม่ถึง จึงอย่าให้ผีหลุดออกมาจากหลุมหรือให้คนไม่ดีทำให้บ้านเมืองได้รับความเสียหาย”