ญี่ปุ่นยังนิยมใช้เงินสดมากสุด

เกือบ 1 ใน 5 ของครัวเรือนญี่ปุ่นใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ในการซื้อสินค้าราคาไม่สูงมาก จากผลสำรวจของสถาบันวิจัยในเครือของธนาคารกลางญี่ปุ่น จัดว่าเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน และเห็นสัญญาณวัฒนธรรมใช้เงินสดของญี่ปุ่นที่กำลังเปลี่ยนไป
ในผลการสำรวจที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 18 พ.ย. และจัดทำในระหว่างเดือนมิ.ย.และก.ค.ระบุว่า 18.5% ของครัวเรือนญี่ปุ่นใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์จ่ายเงินบนแอปสมาร์ทโฟน และจ่ายเงินด้วยเดบิตการ์ด ในการช้อประหว่างทริปซึ่งมีการใช้จ่ายจำนวน 1,000 เยน หรือน้อยกว่า เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 15.4%
สำหรับครัวเรือนของคนโสด ( ซึ่งประมาณ 43% อยู่ในวัย 20 – 30 ปี ) สัดส่วนจะสูงกว่าคืออยู่ที่ 35.6% ชี้ให้เห็นว่าความพยายามของรัฐบาลที่จะนำพาญี่ปุ่นให้เป็นสังคมไร้เงินสดมีแนวโน้มว่าจะได้ผล อย่างน้อยก็ในกลุ่มคนรุ่นใหม่
แม้การจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์จะขยายตัวเติบโต แต่ความคิดที่ว่า ‘เงินสดสำคัญที่สุด’ ยังคงฝังรากลึกในญี่ปุ่น ด้วยตัวเลขที่ชี้ว่า ชาวญี่ปุ่น 84% ยังคงใช้จ่ายด้วยธนบัตรและเหรียญสำหรับการซื้อสินค้าชิ้นเล็ก
และสำหรับการจ่ายเงินที่สูงถึง 10,000 – 50,000 เยน 48.5% ของครัวเรือนระบุว่าพวกเขาจ่ายด้วยเงินสด และ 3.4% ใช้จ่ายด้วยเงินอิเล็กทรอนิกส์ จากผลสำรวจ
อัตราการเกิดอาชญากรรมต่ำ ดอกเบี้ยต่ำนานหลายปี และเครือข่ายของเครื่องกดเงินสดอัตโนมัติ หรือ ATM ที่ทั่วถึงทั่วประเทศ ทำให้การใช้เงินสดยังคงได้รับความนิยมมากที่สุดในญี่ปุ่น ทำให้ชาวญี่ปุ่นมีเหตุผลน้อยลงที่จะเปลี่ยนไปใช้จ่ายด้วยวิธีอื่น
นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ผลักดันให้ชาวญี่ปุ่นเปลี่ยนมาใช้จ่ายแบบไร้เงินสดมากขึ้นเพื่อหนุนให้ร้านค้าส่งเสริมการขายอัตโนมัติ และธนาคารลดค่าใช้จ่ายด้าน ATM ลง
ทั้งนี้ บรรดานักช้อปถูกโน้มน้าวให้เปลี่ยนจากการใช้เงินสดมาเป็นอี-มันนี่ หลังจากรัฐบาลมีการใช้ระบบคืนเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบของภาษีบริโภคที่ปรับขึ้นเมื่อวันที่ 1ต.ค.ที่ผ่านมา.