“บิ๊กตู่”คลายกฎเหล็กนักการเมืองบินไปนอก
เรียกเสียงเฮสนั่น! เมื่อที่ประชุมความมั่นคง วันศุกร์ที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา มีมติ “ปลดล็อค” นักการเมือง ตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 21/2557
เรื่องห้ามบุคคลที่ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)เรียกให้มารายงานตัวเดินทางออกนอกราชอาณาจักร
โดย “พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า “ที่ประชุมความมั่นคงมีมติเห็นชอบ โดยคำสั่งหัวหน้าคสช. ให้ยกเลิกบุคคลที่เคยมีรายชื่อที่คสช. สั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศ สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ ยกเว้นเฉพาะคนมีคดีความผูกพันในศาล หากจะเดินทางออกต้องไปขออนุญาตกับศาลและกระบวนการยุติธรรมตามขั้นตอน คสช.ไม่สามารถไปก้าวก่ายได้ โดยจะมีคำสั่งดังกล่าวออกในวันที่ 1 มิ.ย.นี้”
แน่นอนว่าจากบรรยากาศที่ตรึงเครียดอารมณ์คุกกรุ่นของคนในประเทศ ที่พร้อมจะจุดติดได้ตลอดเวลา ส่อเค้าคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะบรรดานักการเมืองที่โดนแช่แข็งนาน 2 ปี จากพรรคใหญ่ทั้ง “เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์” ต่างพร้อมใจกันออกมาขานรับ สนับสนุนการผ่อนปรนคำสั่งคสช.ดังกล่าว
เห็นได้จาก “พิชัย นริพทะพันธุ์” อดีต รมว.พลังงานและแกนนำพรรคเพื่อไทยออกอาการดีใจ โดยกล่าวว่า “รู้สึกดีใจที่ได้สิทธิเดินทางไปต่างประเทศกลับคืนมา เพราะสิทธิการเดินทางของบุคคล เป็นสิทธิตามกฎบัตรสหประชาชาติ (ยูเอ็น) การถูกจำกัดสิทธิมากว่า 2 ปีทำให้ไม่สะดวก บางครั้งก็ไม่ได้รับ อนุญาตให้เดินทาง หวังว่ารัฐบาลและ คสช. จะปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติในทุกเรื่อง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ภาพลักษณ์ประเทศไทย ต้องเสียหายไปมากกว่านี้และอาจถูกมาตรการลงโทษต่างๆ จากยูเอ็น”
สอดรับกับ “ค่ายสีฟ้า” รองหัวหน้าพรรคปชป. “องอาจ คล้ามไพบูลย์” สนับสนุนยกเลิกห้ามบุคคลออกนอกประเทศ ให้เหตุผลว่า “เป็นเรื่องที่ถูกต้องที่คสช.ตัดสินใจยกเลิก เพราะจะทำให้คนในสังคมมีความรู้สึกผ่อนคลายขึ้น ยิ่งขณะนี้อยู่ในช่วงเวลาการทำประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ย่อมช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีกว่าในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม คสช.และรัฐบาลควรต่อยอดบรรยากาศเช่นนี้ให้มีประโยชน์ต่อการทำประชามติ”
แตกต่างกับ “จาตุรนต์ ฉายแสง”อดีต รมว.ศึกษาธิการและแกนนำพรรคเพื่อไทย ระบุว่า “เป็นเพียงเรื่องจิ๊บจ๊อย แม้จะอนุญาตให้บุคคลเดินทางออกนอกราชอาณาจักรได้ แต่ไม่ได้ชวยให้ผู้ที่เห็นต่างได้รับการผ่อนคลายจากการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ จึงไม่ค่อยเป็นประโยชน์เท่าไหร่”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการ “พลิกเกม” หนีไม่พ้นแรงกดดันจากนานาชาติอย่างหนัก ที่เฝ้าจับตาสถานการณ์การเมืองไทย โดยเฉพาะแรงกดดันจากเวทีการประชุมคณะทำงานของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติตามกระบวนการ (ยูพีอาร์) ย่อมทำให้รัฐบาลและคสช. ต้องปรับเปลี่ยนท่าที เปิดพื้นที่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบรรดาพรรคการเมืองและนักการเมือง
ทว่าเหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งของการ “ทิ้งไพ่” ยอม “คืนอิสรภาพ”ให้นักการเมืองครึ่งหนึ่ง เพราะ “รัฐบาลทหาร” รู้ดีว่าในบรรยากาศเช่นนี้ ร่างรัฐธรรมนูญอาจไม่สามารถผ่านด่านประชามติได้โดยง่าย จึงจำเป็นต้องยอมคลายผ่อนคลาย กฏเหล็กที่เข้มงวดจนเกินไปเพื่อหวังให้นักการเมืองช่วยขยายทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่
หรือนี่เป็นเพียง “แผนสับขาหลอก” ลดยาแรงให้นักการเมืองตายใจเพื่อหวัง “ตัดตอน” ไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหวโจมตีร่างรัฐธรรมนูญ ในห้วงเวลาโค้งสุดท้ายที่มีผลต่อการตัดสินใจของประชาชน ในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
งานนี้ไม่รู้ว่าการถอยคันเร่งครั้งนี้ จะช่วยให้ร่างรัฐธรรมนูญฝ่าด่านประชามติไปถึงฝั่งได้สำเร็จหรือไม่ หรือ “คสช.” จะต้องยอมแลกทิ้งไพ่ใบสุดท้าย ไฟเขียวให้พรรคการเมืองเปิดประชุมพรรคเพื่อทำกิจกรรมทางการเมือง