กกพ.ดันสื่อไทยต้นแบบผู้นำพลังงานไฟฟ้า
กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ดันบทบาทสื่อมวลชนไทยเป็นต้นแบบผู้นำการเปลี่ยนแปลงพร้อมเดินหน้าจัดตั้ง “เครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า”
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า โครงการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้าเป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อกิจการตามมาตรา ๙๗(๕) ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๒ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า
ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. เล็งเห็นว่าบทบาทของสื่อมวลชนไม่ใช่มีความสำคัญเฉพาะการสื่อสารสาธารณะเท่านั้น แต่จะต้องมีบทบาทนำในการเป็น Change Agent หรือผู้นำการเปลี่ยนแปลง โครงการนี้จึงเห็นความสำคัญในการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้าทั้งพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ และขยะ เพื่อเป็นต้นแบบผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการรณรงค์และสื่อสารความเข้าใจที่ถูกต้องสู่สาธารณะ
สำหรับโครงการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้ามีวัตถุประสงค์ในการสำรวจและค้นหาองค์กรสื่อและสื่อมวลชนที่ใส่ใจเรื่องพลังงานสะอาด เพื่อพัฒนาศักยภาพสื่อมวลชนไทยให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องพลังงานทางเลือก โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และขยะ สร้างการมีส่วนร่วม รณรงค์และขยายผลให้ประชาชนและสังคมมีความรู้ความเข้าใจเรื่องพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ และขยะ เผยแพร่ความรู้นวัตกรรมกิจกรรมและความเคลื่อนไหวของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทางเลือก
รวมไปถึงปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างในการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า สนับสนุนพลังงานทางเลือก โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และขยะ ในปี พ.ศ.๒๕๖๒ นี้ ทางโครงการจะดำเนินการจัดประชุมในลักษณะ Focus group ในกรุงเทพมหานครช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๒ และส่วนภูมิภาค ในเรื่องพลังงานทางเลือก โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และขยะ โดยผู้เข้าร่วม Focus Group ประกอบด้วย ผู้แทนจากหนังสือพิมพ์รายวันในส่วนกลางและท้องถิ่น ผู้แทนสื่อวิทยุ FM และท้องถิ่น ผู้แทนสื่อโทรทัศน์ช่องต่างๆ และเคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียมท้องถิ่น และผู้แทนสื่อออนไลน์
โดยเนื้อหาในการจัด Focus Group ได้แก่ สถานการณ์ทั่วไปเรื่องพลังงานของประเทศไทย สถานการณ์การใช้ไฟฟ้าและแหล่งพลังงานในการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ทิศทางและแนวโน้มการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานจากขยะ และบทบาทสื่อมวลชนไทยกับการสร้างการรับรู้ของประชาชนและสังคมในเรื่องการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานขยะ
นอกจากนี้จะมีการนำสื่อมวลชนแขนงต่างๆ อาทิ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ คอลัมน์นิสต์ นักจัดรายการวิทยุ นักจัดรายการโทรทัศน์ สื่อออนไลน์จากสำนักข่าวต่างๆ กลุ่มผู้มีอิทธิพลทางความคิด (Influencers) ลงพื้นที่เรียนรู้และเยี่ยมชมกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก ทั้งนี้คาดว่าสื่อมวลชนที่เข้าร่วมโครงการจะมีความรู้ความเข้าใจในพลังงานทางเลือกโดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์
รวมถึงพลังงานทางเลือกจากขยะ มีเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้าเกิดขึ้น และมีการวางแผนในการทำกิจกรรมร่วมกัน รวมถึงมีการเผยแพร่ความรู้นวัตกรรมกิจกรรมและความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวกับพลังงานทางเลือก โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และขยะ ผ่านสื่อมวลชนแขนงต่างๆ และได้หลักเกณฑ์ในการสร้างต้นแบบ รวมทั้งได้องค์กรและสื่อมวลชนที่จะนำไปสู่การพัฒนาและยกระดับไปสู่การจัดตั้ง “เครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า” ในอนาคต