ไฟป่าออสเตรเลีย กระทบนับล้านคน
ซิดนีย์ : ทางการออสเตรเลียออกคำเตือนว่า สภาพอากาศร้อนและลมแรงจะส่งผลรุนแรงกลายเป็นภัยพิบัติได้ในวันที่ 12 พ.ย. โดยประชาชนหลายล้านคนทางชายฝั่งตะวันออกอาจพบกับสถานการณ์ไฟป่าที่ร้ายแรงที่สุดในรอบเกือบทศวรรษ
มีจุดไฟป่าปะทุเพิ่มขึ้นในช่วงเช้าวันที่ 12 พ.ย. ยิ่งทำให้สถานการณ์ไฟป่าลุกลามมากขึ้นทั่วรัฐนิวเซาธ์เวลส์ โดยจุดที่เกิดไฟป่า 3 จุดจาก 70 จุด อยู่ในระดับ “เตือนภัยฉุกเฉิน” ซึ่งแปลว่าประชาชนอยู่ในอันตรายเร่งด่วน และจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือทันที
สำหรับผู้ที่ประสบกับไฟป่าสองจุด ทางการเตือนว่า สายเกินไปที่ที่จะหลบหนี และเร่งให้หาที่กำบัง
“ เราเริ่มเห็นไฟมากขึ้น” Shane Fitzsimmons คณะกรรมมาธิการดับเพลิงในนิวเซาธ์เวลส์ ซึ่งให้ข้อมูลอัพเดทสองครั้งต่อชั่วโมงกับสถานการณ์ในพื้นที่ตลอดทั้งวัน กล่าวกับผู้สื่อข่าวในซิดนีย์ “สภาพจริงยังคงแย่ลงเรื่อยๆ ในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า และตลอดช่วงบ่าย”
เหตุไฟป่าเกิดขึ้นเป็นปกติ และเป็นภัยพิบัติในฤดูร้อนที่อากาศร้อนและแห้ง แต่ความรุนแรงและมาก่อนเวลาในปีนี้ทำให้หลายคนคาดไม่ถึง เพลิงยิ่งขยายตัวไปเร็วในสภาพอากาศแห้ง หลังเกิดความแห้งแล้งนาน 3 ปีในหลายพื้นที่ของรัฐนิวเซาธ์เวลส์และรัฐควีนสแลนด์ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายคนโทษว่าเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โดยนครซิดนีย์ ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่ถึง 5 ล้านคน เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจะได้รับอันตรายจากไฟในวันที่ 12 พ.ย. เป็นครั้งแรกของเมืองนับตั้งแต่มีการเริ่มจัดอันดับอันตรายจากไฟในปี 2552 หลังจากออสเตรเลียเกิดเหตุไฟป่าที่ร้ายแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ประชาชนในเมืองท่าแห่งนี้ ตื่นขึ้นมาเห็นหมอกควันพิษในวันที่ 12 พ.ย.
เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการเสียชีวิต ในระหว่างที่มีประกาศภาวะฉุกเฉินนาน 7 วัน นักผจญเพลิงมีอำนาจมากขึ้นในการควบคุมเจ้าหน้าที่รัฐ สั่งการให้อพยพ ปิดถนน และตัดระบบสาธารณูปโภค มีคำสั่งให้ปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัยประมาณ 600 แห่งในวันที่ 12 พ.ย. เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยง และทางการแนะนำให้ผู้ที่มีปัญหาด้านระบบหายใจอยู่แต่ในอาคาร
ในรัฐควีนสแลนด์ อันตรายจากไฟป่าอยู่ในระดับ “รุนแรง” ซึ่งต่ำกว่าระดับ “ภัยพิบัติ” ในรัฐนิวเซาธ์เวลส์สองระดับ อย่างไรก็ตาม ยังมีจุดไฟป่าอยู่ประมาณ 22 จุดที่เผาผลาญพื้นที่ของรัฐทางเหนือแห่งนี้
สถานการณ์ภัยพิบัตินี้ก่อให้เกิดการตั้งคำถามในนโยบายของรัฐบาลจากพรรคอนุรักษ์นิยมของออสเตรเลียในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่งทางกรมอุตุฯของออสเตรเลียระบุว่า ทำให้ฤดูที่เกิดไฟป่ากินเวลายาวนานขึ้น.