บ้านปู คว้างานติดตั้งโซลาร์ ทรัพย์สินจุฬาฯ
บ้านปู คว้างาน ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2 โครงการ
นายเจมส์ รามา ปัทมินทรวิภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู อินฟิเนอร์จี จำกัด ในกลุ่ม บมจ.บ้านปู (BANPU) เปิดเผยว่า บริษัทและสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมลงนามข้อตกลงติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนอาคารและลานจอดรถในพื้นที่สวนหลวง-สามย่าน 2 โครงการ รวมขนาดประมาณ 672 กิโลวัตต์ (KW) นับเป็นหนึ่งโครงการนำร่องด้านการบริหารจัดการพลังงานตามแนวคิด Smart Energy ภายใต้โครงการ “เมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ” (CU Smart City)
สำหรับ โซลูชั่นที่นำเสนอ ได้แก่ การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาอาคารตลาดสามย่าน ขนาด 325 กิโลวัตต์ โดยออกแบบพร้อมดำเนินการติดตั้งโครงสร้างที่จอดรถพร้อมหลังคาระบบโซลาร์เซลล์ หรือโซลาร์คาร์พอร์ต ที่มีความคงทนแข็งแรงให้กับลานจอดรถ CU Sport Zone ขนาด 347 กิโลวัตต์ ด้วยแพ็กเกจแบบ Signature package ที่ติดตั้งฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมดูแลหลังการขายฟรีตลอดอายุสัญญา ซึ่งคาดว่าจะดำเนินโครงการแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2562 และภายในต้นปี 2563 ตามลำดับ
นอกจากความร่วมมือครั้งนี้ บ้านปูฯ ยังนำรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า และแอพพลิเคชั่น “MuvMi” ซึ่งบ้านปูฯ ลงทุนสัดส่วน 22% ให้บริการรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้ารับ-ส่งนิสิตและประชาชนทั่วไป บริเวณพื้นที่จุฬาฯ เพื่อสนับสนุนแนวคิด Smart Mobility ของโครงการ CU Smart City
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองอธิการบดีด้านการจัดการทรัพย์สินและนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า พื้นที่ตลาดสามย่าน เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ CU Smart City โดยเป็นโครงการตามแผนแม่บทเพื่อพัฒนาพื้นที่บริเวณสวนหลวง-สามย่าน ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของประชากรและมีการบริโภคทรัพยากรสูงใจกลางเมือง และเป็นย่านธุรกิจที่สำคัญของกรุงเทพฯ ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบเมืองอัจฉริยะ รวมถึงเป็นพื้นที่เศรษฐกิจและสังคมแห่งอนาคต
โดยมีแนวคิดในการพัฒนา 4 มิติ (4 SMARTs) ได้แก่ Smart Mobility, Smart Energy, Smart Environment และ Smart Living ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวจะผลักดันโครงการในทุกมิติ ทั้งการจัดการด้านพลังงาน ด้านการสัญจร ด้านชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยการติดตั้งโซลาร์โซลูชั่นครบวงจรในพื้นที่เขตสวนหลวง-สามย่าน จะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะมาช่วยเสริมศักยภาพด้านการบริหารจัดการพลังงานในมิติของ Smart Energy ด้วยการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ เพื่อผลิตพลังงานสะอาด จัดเก็บและนำใช้ทดแทนพลังงานไฟฟ้าอย่างชาญฉลาดและครบวงจร ทั้งยังเป็นการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม นอกจากโครงการนำร่องในพื้นที่สวนหลวง-สามย่านนี้ ทางทรัพย์สินจุฬาฯ ยังมีแผนจะใช้พลังงานทดแทนที่ยั่งยืน จากระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ควบคู่ไปกับหลักการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะด้านอื่นๆ.