อินเดียไม่เข้าร่วม RCEP
กรุงเทพฯ – เมื่อวันที่ 4 พ.ย. อินเดียระบุว่าจะไม่เข้าร่วมในข้อตกลงการค้าใหม่ของอาเซียน เนื่องจากมีความกังวลว่าจะกระทบกับผู้ผลิตในประเทศ นับเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคครั้งใหญ่ในข้อตกลงการค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
โดยความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ( Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) จะมีมูลค่าการค้าคิดเป็น 30% ของ GDP ทั่วโลกและส่งผลกับประชาชนครึ่งหนึ่งของโลก
แต่อินเดียกังวลเกี่ยวกับการเข้าถึงตลาด กลัวว่าอุตสาหกรรมในประเทศจะถูกกระทบหนักหากประเทศเต็มไปด้วยสินค้าราคาถูกที่ผลิตในจีน
“ เราได้แสดงท่าทีกับประเทศที่มีส่วนร่วมแล้วว่าเราจะไม่เข้าร่วมใน RCEP ” Vijay Thakur Singh ทูตอาวุโสที่ปฏิบัติหน้าที่ในการประชุมเอเชียตะวันออกสำหรับกระทรวงต่างประเทศระบุ
“ การตัดสินใจของเราเกิดจากผลกระทบที่ข้อตกลงนี้จะมีกับประชาชนชาวอินเดียและการดำรงชีวิตของชาวอินเดีย รวมถึงคนที่ยากจนที่สุด” เธอกล่าว
“ รูปแบบข้อตกลงในปัจจุันของ RCEP ไม่ได้สะท้อนถึงจิตวิญญาณพื้นฐานและหลักการที่เห็นพ้องกันของ RCEP” มีการยกคำพูดของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิของอินเดียที่ออกอากาศทางสถานีมาโพสต์บนทวิตเตอร์ “ เป็นข้อตกลงที่ไม่ขานรับในประเด็นความกังวลของอินเดีย”
“ เป็นไปไม่ได้สำหรับอินเดียที่จะเข้าร่วม #RCEP Agreement ” นายกฯโมดิกล่าว
มีการถอนตัวหลังจากการเจรจาในการประชุมอาเซียนซัมมิตในกรุงเทพฯ ซึ่งยุติลงเมื่อเย็นวันที่ 4 พ.ย. โดยการประชุมเน้นในประเด็นการค้า ( ที่มี RCEP เป็นแนวหน้าและศูนย์กลาง) จากผลกระทบของสงครามภาษีสหรัฐฯ – จีนที่ฉุดการเติบโตทั่วโลก
การตัดสินใจครั้งนี้นับเป็นอุปสรรคครั้งสำคัญของข้อตกลง ซึ่งประกอบด้วย 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน รวมกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยไม่มีสหรัฐฯ
ขณะที่สมาชิกที่เหลือระบุว่าตั้งเป้าที่จะลงนามในข้อตกลง RCEP ได้ในปีหน้า หลังจากมีการพิจารณาทบทวนเงื่อนไขของเนื้อหาในทางกฎหมายเมื่อวันที่ 4 พ.ย.
ข่าวนี้มีขึ้นหลังการประชุมตลอดทั้งวันในการประชุมอาเซียนซัมมิตในกรุงเทพฯ ที่มีผู้นำจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย รวมถึงนายกฯของจีนเข้าร่วม
การตัดสินใจของอินเดียดับความหวังที่จะปิดดีล RCEP ในการประชุมครั้งนี้ หลังจากมีการเจรจามานานกว่า 7 ปี
เนื่องจากการเจรจาจบลงในวันที่ 4 พ.ย. กลุ่มประเทศอาเซียนและพันธมิตรรับหลักการของการค้าเสรีในภูมิภาค
“ อีกครั้งที่เราประสบกับการกีดกันทางการค้า เราจำเป็นต้องปกป้องหลักการของการค้าเสรี และนำพาเศรษฐกิจโลกให้เข้าที่เข้าทาง” ประธานาธิบดีมุนแจอินแห่งเกาหลีใต้ระบุในการประชุม.