มาเลเซียทุ่ม 2.25พันล.ซื้อรร.โฟร์พอยท์สฯในไทย
“เจแอลแอล” ประกาศความสำเร็จ ในการเป็นตัวแทนขายโรงแรมโฟร์พอยท์ส บาย เชอราตัน กรุงเทพฯ โดยมีบริษัท ทีเอ โกลบอล เบอราด จากประเทศมาเลเซีย ทุ่มเงิน 2.25 พันล้านบาทซื้อโรงแรมโฟร์พอยท์ส บาย เชอราตัน กรุงเทพฯ
นายไมค์ แบทชเลอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารภาคพื้นเอเชีย หน่วยธุรกิจโรงแรม เจแอลแอล กล่าวว่า นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้ การขายโรงแรมโฟร์พอยท์ส บาย เชอราตัน กรุงเทพฯ นับเป็นดีลการซื้อขายกรรมสิทธิ์ขาดโรงแรมรายการเดียวที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และเป็นการซื้อขายโรงแรมรายการใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีมูลค่าการขาย 2.25 พันล้านบาท คิดเป็นมากกว่ากึ่งหนึ่งของมูลค่าการซื้อขายที่เกิดขึ้นทั้งหมด
โรงแรมตั้งอยู่บนที่ดินขนาดราว 2.3 ไร่ ประกอบด้วยห้องพัก 268 ห้อง ภัตตาคาร-ห้องอาหาร 3 ห้อง ห้องออกกำลังกาย และสระว่ายน้ำบนชั้นดาดฟ้า บริหารโดยแมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล หนึ่งในเชนบริหารโรงแรมรายใหญ่ที่สุดของโลก
โฟร์พอยท์ส บาย เชอราตัน กรุงเทพฯ เป็นโรงแรมแห่งที่สองในประเทศไทยที่ทีเอ โกลบอล เบอราดเข้าซื้อ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้เข้าซื้อโมเวนพิค รีสอร์ท แอนด์ สปา กะรนบีช ภูเก็ต ซึ่งเจแอลแอลเป็นตัวแทนเจ้าของในการขายเช่นกัน ทั้งนี้ ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา มีการซื้อขายโรงแรมในประเทศไทยรายการสำคัญไปถึง 4 รายการ โดย3รายการเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ
นายจักรกริช จักรพันธุ์ ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการฝ่ายการลงทุนซื้อขายโรงแรมภาคพื้นเอเชีย เจแอลแอล กล่าวว่า ยังมีการเจรจาซื้อขายสำคัญๆ อีกหลายรายการ ซึ่งในจำนวนนี้คาดว่าผู้ซื้อผู้ขายจะสามารถบรรลุข้อตกลงได้ในเร็วๆ นี้ แต่อาจไม่เสร็จสมบูรณ์จนถึงขั้นตอนการโอนกรรมสิทธิ์ทันก่อนสิ้นปี ดังนั้น จึงมีแนวโน้มว่า มูลค่าการลงทุนซื้อขายโรงแรมโดยรวมของไทยในปีนี้ จะต่ำกว่าปี 2561 ที่มีมูลค่าทั้งสิ้น 2.1 หมื่นล้านบาท แต่จะปรับตัวสูงขึ้นในปี 2563
ก่อนหน้านี้ ตามรายงานวิจัยฯของ เจแอลแอล ระบุว่า แม้จะมีความไม่แน่นอนทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองโลก แต่โรงแรมในเอเชียแปซิฟิกยังคงเป็นธุรกิจที่เสนอผลตอบแทนการลงทุนที่น่าดึงดูดใจ เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวของของภูมิภาคนี้ ยังคงเติบโตต่อเนื่องในขณะที่อัตราดอกเบี้ยและผลตอบแทนจากพันธบัตรปรับตัวลดลง
“บริษัทที่ลงทุนในหุ้นของบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และนักลงทุนภายในประเทศ มีความต้องการสูงในการลงทุนซื้อโรงแรม ดังนั้น เชื่อว่า ปี 2562 นี้จะเป็น 1 ใน 3 ปีที่การลงทุนซื้อขายโรงแรมในเอเชียแปซิฟิกมีมูลค่าสูงสุดในช่วง 10 ที่ผ่านมาซึ่งมีเพียงปี 2560 และ 2558 เท่านั้นที่การลงทุนซื้อขายมีมูลค่ารวมเกิน 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่ง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา มีมูลค่าการซื้อขายโรงแรม 7.8 พันล้านดอลลาร์”.