ค้าปลีกญี่ปุ่นโตสุดในรอบ 5 ปี
โตเกียว (รอยเตอร์) – ตัวเลขค้าปลีกของญี่ปุ่นเดือนก.ย. เติบโตแข็งแกร่งที่สุดในรอบ 5 ปีครึ่ง เนื่องจากผู้บริโภคเร่งซื้อสินค้าก่อนที่จะถึงกำหนดขึ้นภาษี ก่อให้เกิดความกังวลว่า ยอดใช้จ่ายจะลดฮวบลงในหลายเดือนต่อจากนี้
เป้าหมายที่รัฐบาลญี่ปุ่นปรับขึ้นภาษีบริโภคจากเดิม 8% เป็น 10% ในวันที่ 1 ต.ค. คือเพื่อช่วยแก้ปัญหาหนี้สาธารณะที่สูงเป็นสองเท่าของขนาดเศรษฐกิจของประเทศ
แต่นักวิเคราะห์บางรายกังวลว่าภาษีที่ปรับขึ้น (หลังจากเลื่อนมา 2 ครั้งแล้ว) อาจฉุดให้ ญี่ปุ่นตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย ท้าทายให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ ต้องพยายามคงเสถียรภาพการเติบโต และเร่งตัวเลขเงินเฟ้อให้ถึง 2% ตามเป้า
ข้อมูลที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 30 ต.ค. เป็นตัวชี้วัดสำคัญของ BOJ ซึ่งกำลังมีการประชุมพิจารณานโยบายเป็นเวลา 2 วันคือวันที่ 30 – 31 ต.ค. โดยประเด็นสำคัญคือการคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตประจำไตรมาสและราคา
ทาง BOJ อาจระงับนโยบายผ่อนปรนเนื่องจากมองว่าตลาดยังมีเสถียรภาพ การพักรบ ในระหว่างการเจรจาการค้าสหรัฐฯ – จีน และดีมานด์ในประเทศที่เติบโต ทำให้ยังมีพื้นที่เหลือสำหรับกลไกในการขับเคลื่อนอื่นๆ
โดยยอดค้าปลีกในเดือนก.ย.พุ่งขึ้นมาถึง 9.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน หนุนให้ยอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นถึง 16.9% และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน เช่น ตู้เย็น คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ รวมถึงเครื่องสำอาง อาหารและเสื้อผ้า จากข้อมูลของกระทรวงการค้าที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 30 ต.ค.
นักวิเคราะห์ระบุว่า การเร่งใช้จ่ายก่อนการปรับขึ้นภาษี อาจทำให้การบริโภคภาคเอกชนซบเซาลงในไตรมาส 4 แม้ว่าจะเป็นการช่วยหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของไตรมาส 4 ด้วยเช่นกัน
“ ข้อมูลที่เผยแพร่วันนี้ชี้ว่า การบริโภคภาคเอกชนอาจเติบโต 1.5% ในไตรมาส 3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน” Marcel Thieliant นักเศรษฐศาสตร์ญี่ปุ่นอาวุโสประจำ Capital Economics ระบุ
“ เราคาดการณ์ว่ามีความเสี่ยงที่ตัวเลขคาดการณ์ว่าจะโต 1.7% ลดลงจากการบริโภคในไตรมาส 4 ที่เป็นช่วงขาลง”
ทั้งนี้ ยอดค้าปลีกนี้สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ 6.9% ของนักวิเคราะห์จากโพลล์ของรอยเตอร์ ทำให้เป็นตัวเลขเติบโตเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2557 ซึ่งในเวลานั้นยอดขายพุ่งขึ้นถึง 11% ก่อนการปรับขึ้นภาษีครั้งที่แล้ว
การปรับขึ้นภาษีจากเดิม 5% เป็น 8% ฉุดการบริโภคภาคเอกชนและเศรษฐกิจเป็นวงกว้างเนื่องจากดีมานด์ชะลอตัวตามหลังการเร่งซื้อสินค้าในนาทีสุดท้ายของผู้บริโภคก่อนขึ้นภาษี
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเชื่อว่าดีมานด์จะไม่ลดฮวบลงในช่วงนี้ เนื่องจากมีการขึ้นภาษีไม่มาก และหลายมาตรการของรัฐบาลช่วยลดภาระราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นเช่น บัตรกำนัลซื้อสินค้าและเงินอุดหนุนในส่วนอื่น