พพ.-อมตะ ดึงโรงงานปรับตัวสู่ Smart City
พพ.- อมตะ ดึงโรงงานปรับตัวสู่อุตสาหกรรมเมืองอัจฉริยะ 4.0 ด้านอัครเรศร์ เผย อมตะ เร่งศึกษาโปรเจคต์โซลาร์ลอยน้ำ สร้างพลังงานสะอาดป้อนภาคอุตสาหกรรม
นางสาวนวลจันทร์ เตชะเสริมสุขกูล รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยภายในงานเสวนาหัวข้อ “การพัฒนานวัตกรรมพลังงาน กับการขับเคลื่อนนิคมอุตสาหกรรม สู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ สมาร์ท ซิตี้ (Smart City)“ ว่า การบริหารจัดการด้านพลังงานถือเป็นหัวใจสำคัญ ที่จะนำไปสู่การวางระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ดังนั้นการขับเคลื่อนไปสู่ การเป็นเมืองอัจฉริยะได้อย่างสมบูรณ์แบบนั้น ผู้ประกอบการจะต้องมีส่วนร่วมในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ภายในโรงงาน ทั้งในด้านการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ การออกแบบอาคารโรงงาน
รวมถึงการพัฒนาพลังงานทดแทนรูปแบบต่างๆเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งจะส่งผลทำให้ภาคการผลิตของไทยมีศักยภาพในการแข่งขันและพร้อมก้าวสู่การพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะรวมถึงยังสอดรับแนวทางการลดใช้พลังงานตามแผนอนุรักษ์พลังงานของประเทศ พ.ศ.2558-2579 หรือ (Energy Efficiency Plan; EEP 2015)ที่กำหนดเป้าหมายลดการใช้พลังงานร้อยละ 30 ภายในปี 2579
ด้านนายอัครเรศร์ ชูช่วย กรรมการผู้จัดการ บริษัท อมตะ ฟาซิริตี้ เซอร์วิส จำกัดเป็นบริษัทในกลุ่มอมตะ กล่าวว่า อมตะได้วางเป้าหมายในการพัฒนา สมาร์ทซิตี้กำหนดเป็นแผน ระยะ 5 ปี ขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องของการกำหนดกรอบพื้นที่ในการทำ สมาร์ท ซิตี้ซึ่งมีพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 10 ตร.กม. โดยจะเริ่มดำเนินการในปี 2563ซึ่งในส่วนของสมาร์ท เอเนอร์จี้หรืออัจฉริยะ ด้านพลังงานขณะนี้อมตะได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน อาทิ การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนน้ำ (SolarFloating) และการนำขยะมาพัฒนาเป็นเชื้อเพลิงพลังงานไฟฟ้าเพื่อการนำทรัพยากรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้เกิดประโยชน์สูงสุด
สำหรับความคืบหน้าการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนน้ำบริษัท อมตะ วอเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบริษัทในกลุ่มอมตะ จะเป็นผู้ดำเนินการพัฒนาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ทั้งด้านการลงทุนและขนาดกำลังการผลิต ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมในการติดตั้งที่จะสามารถนำมาผลิตได้ทั้งในกระบวนการผลิตน้ำที่ป้อนให้กับอุตสาหกรรมรวมถึงรูปแบบการจัดจำหน่ายเพื่อเชื่อมโยงเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลัก (Grid) สำหรับขายให้กับโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมฯ ซึ่งจะนำร่องในนิคมฯ อมตะ ซิตี้ชลบุรี คาดว่าโครงการดังกล่าวจะเริ่มเห็นความชัดเจนประมาณปี 2563.