สกัดผลิตยาดองเถื่อน – แนะดื่มเหล้าถูก กม.
รมว.คลังจี้สรรพสามิต เร่งสกัดร้านค้ายาดองทั่วไทย หลังพบแอบลักลอบผลิตจาก “เหล้าเถื่อน” จนมีคนตาย 3 ศพที่ชลบุรี เตือนผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงการดื่มสุราที่ไม่ได้รับอนุญาตผลิตจากกรมสรรพสามิต
กระแส “เหล้าปลอมระบาด” ทำให้ผู้บริโภคต่างตกอยู่ในภาวะความ “เสี่ยง” กับสารพัดอาการโรคร้าย กระทั่งเกิดการเสียชีวิต เริ่มกลับมาเป็นประเด็นสาธารณะให้สังคมไทยต้องตระหนักรู้และวางแผนรับมือกันอีกครั้ง
ล่าสุด “รองโฆษกกรมสรรพสามิต” นายณัฐกร อุเทนสุต ผอ.สำนักแผนภาษี เปิดแถลงข่าวเมื่อช่วงบ่ายวันนี้ (25 ต.ค.) ว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ชลบุรี 1 กรณีชาวบ้าน 3 รายใน ต.เสม็ด อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลชลบุรี หลังมีอาการแน่นหน้าอก อาเจียน เพราะดื่มเหล้ายาดองที่ซื้อมา โดยมีส่วนผสมของสมุนไพรรากสามสิบ ผสมคางคกและเหล้าขาวมาดื่ม จากการตรวจสอบพบว่าในสถานที่ทำเหล้ายาดองดังกล่าว พบทั้งถังแกลลอนเปล่าชนิดเมทิลแอลกอฮอล์ และชนิดเอทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งพนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างการหาข้อเท็จจริง เพื่อสรุปสาเหตุการเสียชีวิตและแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้กระทำผิดต่อไป
“นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ได้สั่งการให้กรมสรรพสามิต เร่งปราบปรามผู้ผลิตยาดองเถื่อนและซุ้มยาดองผิดกฎหมายทั่วประเทศ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวผิดพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ที่ไม่อนุญาตให้ทำเหล้ายาดองเพื่อขายได้ ยกเว้นจะดองเพื่อบริโภคเองเท่านั้น” นายณัฐกร ระบุ
อย่างไรก็ตาม มีกรณีการยกเว้น หากเป็นการนำเหล้าไปผสมเพื่อทำยาแผนโบราณ เช่น ยาแก้ไอ ม้ากระทืบโรง เป็นต้น โดยผู้ผลิตจะต้องนำบรรจุภัณฑ์ และส่วนผสมในการผลิตยาแผนโบราณไปให้สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบ โดยหากผ่านการตรวจสอบคุณภาพจาก อย. ก็สามารถนำมาจำหน่ายได้ แต่จะถูกจัดอยู่ในหมวดยา และขายได้ที่ร้านขายยาเท่านั้น
สำหรับบทลงโทษของการกระทำผิดแบ่งเป็น 2 กรณี ได้แก่ กรณีที่ 1 ขายเหล้ายาดองที่ทำจากสุราที่เสียภาษีแล้ว จะผิดกฎหมายของ กรมสรรพสามิต ตามมาตรา 155 (ไม่มีใบอนุญาตขาย) มาตรา 157 (เปลี่ยนแปลงภาชนะบรรจุสุรา) และมาตรา 158 (เปลี่ยนแปลงสุรา) มีโทษสูงสุดปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือ กรณีที่ 2 การขายเหล้ายาดองที่ทำจากสุราที่ไม่ได้เสียภาษี จะผิดกฎหมายกรมสรรพสามิต ตามมาตรา 191 (ขายสุราที่ผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาต) และมาตรา 192 (ซื้อหรือครอบครองสุราที่ผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาต) ซึ่งมีโทษสูงสุดปรับไม่เกิน 50,000 บาท
รองโฆษกกรมสรรพสามิต กล่าวอีกว่า การทำเหล้ายาดองเพื่อขาย เป็นการลักลอบทำโดยชาวบ้าน ซึ่งภายใต้พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 กรมสรรพสามิตไม่มีการอนุญาตให้ทำเหล้ายาดองเพื่อขายได้ อย่างไรก็ตาม กรมสรรพสามิตควบคุมการผลิตสุราโดยออกใบอนุญาตผลิต รวมทั้งมีการควบคุมการผลิต การจำหน่ายและการตรวจสอบคุณภาพสุราที่ได้มาตรฐานสุราตามที่กรมสรรพสามิตกำหนด ซึ่งกรมสรรพสามิตจะทำการตรวจสอบ ตั้งแต่การใช้วัตถุดิบ กรรมวิธีการผลิต และตรวจสอบคุณภาพสุราก่อนนำออกจากโรงอุตสาหกรรม และตรวจสอบการใช้ฉลากและภาชนะ ตามประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการผลิตสุราและการนำสุราออกจากโรงอุตสาหกรรมเพื่อตรวจวิเคราะห์ในขั้นตอนการผลิต
ทั้งนี้ จากสถิติจำนวนของกลางของกรมสรรพสามิต พบว่าในปีงบประมาณ 62 กรมฯ ยึดเหล้ายาดองเป็นของกลางจำนวน 13,145.97 ลิตร คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.005 ของปริมาณสุราที่เสียภาษีทั้งหมด จำนวน 670 ล้านลิตร จะเห็นได้ว่า แม้เหล้ายาดองจะเป็นสัดส่วนที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับปริมาณสุราที่เสียภาษีและได้รับการตรวจสอบคุณภาพอย่างถูกต้อง ก็ยังพบว่า ยังคงมีผู้ต้องการผลิตและบริโภคเหล้ายาดองอยู่ โดยไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยจากการดื่มสุราที่ไม่ได้รับการตรวจสอบคุณภาพ จนอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
“กรมสรรพสามิตขอเรียนว่า การบริโภคสุราที่มิได้รับอนุญาตให้ผลิตจากกรมสรรพสามิตจะส่งผลต่อสุขภาพอาจเกิดอันตรายกับชีวิตของผู้บริโภคได้ จึงขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการบริโภคเหล้ายาดองที่จำหน่ายตามซุ้มยาดองหรือแหล่งอื่นๆ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการบริโภคสุราที่ไม่ได้รับอนุญาตจากกรมสรรพสามิต” รองโฆษกกรมสรรพสามิตกล่าว พร้อมกับย้ำว่า
หากประชาชนท่านใดทราบเบาะแสการกระทำความผิดเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายเหล้ายาดอง หรือสุราอื่นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงสินค้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตสามารถแจ้งโดยตรงได้ที่กรมสรรพสามิต หรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือ Call center 1713 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่ www.excise.go.th โดยจะได้รับรางวัลนำจับหลังจากคดีสิ้นสุดแล้ว.