เซ็นแล้วจ่อเปิดไฮสปีดเทรนในอีก 5 ปี
“บิ๊กตู่” จับผู้เกี่ยวข้องเซ็นสัญญาร่วมทุน PPP “รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน” มูลค่ากว่า 2.2 แสนล้านบาท ย้ำรัฐบาลเดินหน้าแก้ไขปัญหาให้หมด ด้าน “ศุภชัย” ตัวแทนซีพีเอช หวั่นเป็นงาน “สุดหิน” ยันเร่งก่อสร้างจนเสร็จพร้อมเปิดให้บริการจริงปี 66
เผยเส้นทางแรก “มักกะสัน-สนามบินสุวรรณภูมิ” ก่อนโชว์พื้นที่สวยแปลงใหญ่ 100 ไร่ ตั้งเป้าผุด “สำนักงาน-โรงแรม” ขนาด 2 ล้าน ตร.ม. มูลค่ากว่า 1.4 แสนล้านบาท ขณะที่ “บิ๊กรถไฟ” จ่อดัน กม.เวนคืนที่ดินให้ ครม.อนุมัติ เคลียร์เส้นทางส่งเครือซีพี
ที่สุดโปรเจ็ค “ไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน” มูลค่า 224,544 ล้านบาท ถูก “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม “ล็อกคอ” ให้ผู้เกี่ยวข้อง อย่าง…การรถไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (ซีพีเอช) ได้ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ จนได้
อาการดีใจจนออกหน้าของ “ลงตู่” รอบนี้ ไม่ต่างจากสิ่งที่เขาบอกกับสื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล ทำนอง…
“เราทำงานขับเคลื่อนเรื่องนี้มานานกว่า 2 ปีแล้ว วันนี้ (24 ต.ค.) ถือเป็นการนับหนึ่งลงนามสัญญาในการเริ่มก่อสร้าง โดยมีหลายภาคส่วนมาร่วมมือกัน ประโยชน์ที่เกิดขึ้นไม่เพียงแค่เชื่อม 3 สนามบิน แต่ยังเชื่อมถึงโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน ที่กำลังดำเนินการก่อสร้างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และต่อไปยังประเทศอื่นด้วย”
สำหรับภาพรวมในการลงทุนของโครงการนี้ พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า…ใช้เงินไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท เพราะจำเป็นต้องพัฒนาประเทศไทย ทั้งเรื่องทางบก รถไฟฟ้าความเร็วสูง ทางอากาศ รวมถึงท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด นำไปสู่การสร้างงานสร้างอาชีพในอนาคต
“การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจะเป็นไปตามสัญญาอย่างแน่นอน โดยรัฐบาลได้หาทางออกไว้แล้ว เช่นกรณีรื้อย้ายสาธารณูปโภคเดิมที่กีดขวางเส้นทางการก่อสร้าง รัฐบาลจำเป็นต้องแก้ปัญหา โดยกระทรวงมหาดไทยจะเป็นเจ้าภาพในการประชุมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การรื้อย้ายเป็นไปตามแผนงานที่กำหนด” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ
ส่วนนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะกรรมการผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะผู้แทนซีพีเอช กล่าวว่า จากนี้ไป กลุ่มซีพีเอชจะเริ่มวางแผนระยะเวลาการก่อสร้าง โดยจะเร่งดำเนินการก่อสร้างให้ได้ภาย ใน 1 ปี หรือ 12 เดือน แต่ต้องไม่เกิน 24 เดือน เพื่อให้การก่อสร้างโครงการต้องแล้วเสร็จ และพร้อมเปิดให้บริการภายในปี 66 เส้นทางสายแรกที่จะเปิดให้บริการคือ “สถานีมักกะสัน – สนามบินสุวรรณภูมิ” ซึ่งปัจจุบันมีรถไฟแอร์ พอร์ต ลิงค์ เปิดให้บริการอยู่แล้ว โดยซีพีเอชสามารถเข้าปรับปรุงระบบงาน และเปิดให้ บริการโดยใช้เวลาไม่นานนัก
ส่วนเส้นทางที่ 2 คือ “สนามบินสุวรรณภูมิ – สนามบินอู่ตะเภา” ระยะทาง 170 กม. ทาง ร.ฟ.ท.ระบุว่า จะส่งมอบพื้นที่ได้เร็วขึ้น จากเดิม 2 ปี ลดลงเหลือ 1 ปี 3 เดือน และเส้นทางที่ 3 “สนามบินดอนเมือง – สนามนีมักกะสัน” จะส่งมอบพื้นที่เร็วขึ้น จากเดิม 4 ปี ลดลงเหลือ 2 ปี 3 เดือน ซึ่งหากการส่งมอบพื้นที่เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ตนเชื่อว่าไม่เกิน 5 ปี รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะก่อสร้างเสร็จทั้งหมด
โดยกลุ่มซีพีเอช วางแผนให้สนามนีรถไฟมักกะสัน เป็น “จุดศูนย์กลาง” ของโครงการฯ ที่สามารถเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ และถนนหนทางเพื่อให้นักเดินทาง มีจุดพักอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งพื้นที่บริเวณสถานีมักกะสั้น ร.ฟ.ท.จะมอบพื้นราว 2 ล้าน ตร.ม. ให้กลุ่มซีพีเอสนำไปพัฒนาเป็นโรงแรม อาคารสำนักงาน และอื่นๆด้วยเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 140,000 ล้านบาท
ส่วนเงินทุนในการก่อสร้างโครงการฯที่หลายเป็นห่วงนั้น เนื่องจากเป็นโครงการรร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP) และมีเงินลงทุนมากกว่า 2 แสนล้านบาท โดยเบื้องต้นจะได้ลงทุนตามสัดส่วนของกลุ่มพันธมิตรที่กำหนด ซึ่งปัจจุบันเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุด 70% เพื่อเป็นแกนนำและมีอำนาจในการบริหารโครงการฯ แต่ในอนาคตจะมีการหาพันธมิตรเพิ่มทุน และนำโครงการฯไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นจะต้องลดลง แต่ยืนยันว่าซีพีจะถือหุ้นไม่น้อยกว่า 51%
“เราหารือกับ ร.ฟ.ท.มาโดยตลอด ยอมรับว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ถือเป็นงานหินมากที่สุดเท่าที่เคยทำงาน เนื่องจากเป็นโครงการแรกของอีอีซี มีการใช้เงินทุนก่อสร้างจำนวนมาก และยังมีเรื่องของการส่งมอบพื้นที่อีกด้วย ทั้งหมดนี้ ถือเป็นความเสี่ยงของโครงการฯ แต่กลุ่มซีพีเอชได้รับความร่วมมืออย่างดีจากพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงทำให้สามารถรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ โดยหากโครงการเปิดให้บริการได้แล้ว คาดว่าจะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจราว 6.5 แสนล้านบาท ส่งผลให้เกิดการจ้างงาน 16,000 อัตรา และจ้างงานในธุรกิจเกี่ยวเนื่องมากกว่า 100,000 อัตรา ใน 5 ปีข้างหน้า” นายศุภชัย ย้ำ
ขณะที่ นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า มีพื้นที่ราว 100 ไร่ ตั้งอยู่ฝั่งตรงของสถานีมักกะสัน ก่อนขึ้นทางด่วน ที่จะมอบให้กลุ่มซีพีเอช สามารถใช้เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ได้ โดยมั่นใจว่า กลุ่มซีพีเอช จะออกแบบอาคารสำนักงานและโรงแรมให้มีความทันสมัยอย่างแน่นอน ส่วนเรื่องการเวนคืนพื้นที่นั้น ได้ข้อสรุปเรียบร้อยแล้ว และคาดว่าวันที่ 29 ต.ค.นี้ จะนำพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา