ศก.เกาหลีใต้ Q3 ชะลอตัวเกินคาด
เศรษฐกิจเกาหลีใต้ในไตรมาส 3 เติบโตน้อยกว่าที่คาดการณ์ แม้ตัวเลขส่งออกจะมีสัญญาณดีขึ้น แต่แนวโน้มโดยรวมยังมืดมนจากการใช้จ่ายในประเทศที่ซบเซาและปัจจัยเสี่ยงทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นจากความขัดแย้งทางการค้า
เมื่อวันที่ 24 ต.ค. ธนาคารกลางเกาหลีประเมินว่า เศรษฐกิจจะเติบโต 0.4% ในไตรมาสเดือนก.ค. – ก.ย. ลดลงจากตัวเลขเติบโต 1.0% ในไตรมาส 2 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์จากผลสำรวจ 26 นักเศรษฐศาสตร์ของรอยเตอร์อยู่ 0.5%
โดยยอดส่งออกเติบโต 4.1% ในไตรมาส 3 หลังจากโต 2.0% ในไตรมาส 2 ฟื้นกลับขึ้นมาจากที่เคยหดตัวสองไตรมาสติดต่อกัน แต่การบริโภคของเอกชนโตเพียง 0.1% และการใช้จ่ายของภาคก่อสร้างร่วงลง 5.2%
ปีก่อนหน้านี้ เศรษฐกิจเติบโต 2.0% ทำให้ค่าเฉลี่ยของเดือนม.ค. – ก.ย.อยู่ที่ 1.9% ลดลงจาก 2.6% ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 และเมื่อเทียบกับตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของธนาคารกลางที่ 2.2% สำหรับตลอดปีนี้
เศรษฐกิจที่พึ่งพาการค้าของเกาหลีใต้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากจากสงครามการค้าสหรัฐฯ – จีนที่กระทบซัพพลายเชนทั่วโลก บั่นทอนความเชื่อมั่นและการลงทุน รวมถึงยังมีความขัดแย้งทางการค้ากับญี่ปุ่นที่ส่งผลกับผู้ส่งออกในเกาหลีใต้ด้วย
รัฐบาลรับมือด้วยแผนกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ธนาคารกลางปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในรอบ 3 เดือนลงมาอยู่ที่ 1.25% ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปลายปี 2560 เป็นต้นมา
และธนาคารกลางยังเปิดกว้างว่าอาจมีการผ่อนคลายมาตการเศรษฐกิจเพิ่ม แม้คาดว่าจะไม่มีการลดดอกเบี้ยลงอีกในเร็วๆนี้ โดยการประชุมนโยบายครั้งต่อไป ซึ่งจะเป็นครั้งสุดท้ายของปีนี้คือวันที่ 29 พ.ย.
เมื่อวันที่ 22 ต.ค. ประธานาธิบดีมุนแจอินเร่งให้สภาอนุมัติกฎหมายงบประมาณของรัฐบาลสำหรับปีหน้า ซึ่งจะมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 9.3% จากปีนี้ โดยระบุว่า ถึงเวลาที่นโยบายการคลังต้องมีบทบาทสำคัญที่สุด
“ เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว และประเทศเรา ซึ่งพึ่งพาการค้าเป็นหลักก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่” ประธานาธิบดีมุนกล่าว
สถานะการคลังของเกาหลีใต้ยังคงแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลก โดยสัดส่วนหนี้ของรัฐบาลอยู่ที่ 40% ของ GDP เมื่อเทียบกับหลายประเทศในโลกที่มีหนี้มากกว่า 100% ของ GDP
เศรษฐกิจเกาหลีใต้ดูจะเติบโตประมาณ 2% สำหรับปีนี้ จากการประเมินของโพลล์รอยเตอร์ในสัปดาห์นี้ ต่ำกว่า 2.7% ของปี 2561 และทำให้เป็นปีที่ตกต่ำที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ไม่นับรวมวิกฤตการเงินโลก หรือในภูมิภาคล่าสุดที่ส่งผลกระทบหลายปี.