สมคิด เดินสายกล่อมนักลงทุนจีน ลง EEC
บีโอไอ เผย สมคิด นำทีม หารือกับบริษัทชั้นนำในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีชีวภาพ อุปกรณ์เครือข่ายและโทรคมนาคม ประเทศจีน พร้อมจัดงานสัมมนาดูดนักลงทุนลง EEC
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม ถึง 25 ตุลาคม 2562 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาลไทยนำหน่วยงานของภาครัฐไทยเดินทางไปชักจูงการลงทุน ณ มณฑลกวางตุ้ง และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยจะมีการพบหารือกับบริษัทชั้นนำของจีน เพื่อชักชวนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย รวมทั้งร่วมพิธีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐไทยกับมณฑลกวางตุ้ง และบริษัท หัวเว่ย ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทที่จะพบหารือนั้นล้วนเป็นบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีชีวภาพ อุปกรณ์เครือข่ายและโทรคมนาคม และการพัฒนาบุคลากร
นอกจากนี้ คณะจะเข้าพบเพื่อหารือกับผู้บริหารของบริษัท หัวเว่ย ณ เมืองเซินเจิ้น และในวันที่ 23 ตุลาคม 2562 บีโอไอจะจัดสัมมนาใหญ่“Strategic Partnership through the Belt and Road Initiative and the EEC” โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีจะกล่าวปาฐกถาพิเศษ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง จะบรรยายในหัวข้อ “Enhancing Thailand’s Competitiveness-Improving Ease of Doing Business in Thailand”
ขณะที่ นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอ จะบรรยายในหัวข้อ “Thailand Investment Year: Opportunities for Chinese Investors” นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จะร่วมบรรยายในหัวข้อ “Grand Strategy on the Belt and Road Initiative and the EEC” และผู้บริหารระดับสูงของบริษัท หัวเว่ย ประเทศไทยจะร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำธุรกิจในประเทศไทยด้วย โดยงานสัมมนาจะจัดขึ้น ณ โรงแรมโฟร์ซีซั่น เซินเจิ้น คาดว่า จะมีนักธุรกิจชั้นนำจากจีนเข้าร่วมประมาณ 500 ราย
“ประเทศไทยกับจีนมีความสัมพันธ์ที่ดีมาอย่างยาวนาน ซึ่งไทยถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการเป็นประตูสู่อาเซียน ที่สามารถเชื่อมโยงกับจีนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เหมาะสมกับการลงทุน นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังมีมาตรการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนผ่านสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของบีโอไออีกด้วย” นางสาวดวงใจกล่าว
ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขขอรับการส่งเสริมการลงทุนของจีน ตั้งแต่ปี 2558 ถึงปี 2561 มียอดรวมกว่า 1.12 แสนล้านบาท ขณะที่ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 นักลงทุนจากจีนมียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนแล้วกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2561 กว่า 5 เท่า