กรมศุลฯ ล้างบางชิปปิ้งทุจริต
“บิ๊กกบ” หรือ กุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลฯ เอาจริง สั่งขึ้นทะเบียนชิปปิ้ง 1 หมื่นคนทั่วประเทศ ภายในสิ้นเดือนต.ค.นี้ มั่นใจล้างบางทุจริตสำเร็จ พร้อมขึ้นแบล็กลิสต์ชิปปิ้งขี้โกง
“เราจะใช้ระยะเวลา 30 วัน ในการขึ้นทะเบียนชิปปิ้งทั่วประเทศ ที่มีอยู่ประมาณ 10,000 ราย เพื่อสร้างความโปร่งใสและระบบป้องกันการทุจริตขึ้นภายในกรมศุลกากร” นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวในระหว่างการมอบนโยบายให้แก่ข้าราชการศุลกากรในปีงบประมาณ2560 เมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา
“ตลอดระยะเวลา 100 กว่าปี ข้าราชการกรมศุลกากรมีความสนิทสนมกับตัวแทนออก หรือชิปปิ้ง เป็นอย่างมาก และใน ขณะนี้ ก็มีข้าราชการของเราบางคนทำตัวเป็นชิปปิ้ง หรือแม้กระทั่งตั้งตัวเป็นเจ้าของบริษัทชิปปิ้งก็มี ซึ่งประเด็นต่างๆ นี้ คือ การสร้างอิทธิพลขึ้นภายในที่ทำงาน เพราะยิ่งนานวัน อิทธิพลของคนเก่าๆ ก็ฝั่งรากลึกและยากที่จะโค่นล้มลงได้” อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวและกล่าวว่า ภายในเดือนต.ค.นี้ กรมศุลกากรจะขึ้นทะเบียนชิปปิ้งให้เสร็จทั้งหมด ซึ่งในจำนวน 10,000 รายนั้น มีทั้งประเภทบุคคลธรรมดาและบริษัทนิติบุคคล
นายกุลิศ กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนชิปปิ้ง ก็เท่ากับเป็นการประเมินความเสี่ยงของการทุจริต หากเราตรวจสอบย้อนหลังไปแล้วพบว่า ชิปปิ้งคนนี้ หรือบริษัทนี้ มีประวัติไม่ดี เราก็พร้อมที่จะขึ้นแบล็กลิสต์ทันที ส่วนบทลงโทษจะมีความรุนแรงถึงขึ้นทุบหม้อข้าวเลยที่เดียวเช่น หากมีการสำแดงราคาหรือแจ้งจำนวน สินค้าไม่ตรงกับความเป็นจริง (แจ้งเท็จ) มีการแก้ไขหรือปลอมแปลงเอกสาร หากจับได้ก็จะสั่งห้ามทำธุรกิจใดๆ กับกรมศุลกากร หรือขึ้นแบล็กลิสต์เป็นระยะเวลา 30 วันเพื่อรอผล การตรวจสอบจากสำนักงานบริหารกลางของกรมศุลกากรซึ่งหากพบว่ากระทำความผิดจริงกรมศุลกากรจะประกาศยกเลิก การเป็นชิปปิ้งทันที
ส่วนกรณีมีรายชื่อเป็นกรรมการของบริษัทนิติบุคคลก็จะขึ้นแบล็กลิสต์ ห้ามผู้มีรายชื่อในบริษัทรายนั้นๆ ทำพิธีการใดๆ กับกรมศุลกากรอีกต่อไป
นายกุลิศ กล่าวว่า “ที่ผ่านมา กรมศุลกากรประสบปัญหาเรื่องการรับเงินใต้โต๊ะจากภาคเอกชน โดยมีชิปปิ้งตัวกลางในการเจรจาต่อรองราคาเพื่อให้เกิดความสมยอมระหว่างเจ้าหน้าที่กับบริษัทเอกชน ดังนั้น หากเราสามารถควบคุมชิปปิ้งให้อยู่กฎกติกาที่ถูกต้องและมีความโปร่งใส เชื่อว่า ปัญหาการทุจริตจะลดลงหรือหมดไปจากกรมศุลกากรได้อย่างแน่นอน”
ทั้งนี้ ในปัจจุบันผู้ประกอบการชิปปิ้งทั่วประเทศ มีประมาณ 10,000 ราย ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นชิปปิ้งอิสระหรือบุคคลธรรมดา ส่วนที่เหลือมีเพียงจำนวนเล็กน้อยไม่เกิน 200 ราย เป็นบริษัทชิปปิ้งนิติบุคคลรายใหญ่ 15-16 ราย และบริษัทขนาดกลางอีก 150 ราย
โดยผู้ประกอบการชิปปิ้งรายใหญ่มีความน่าเชื่อและเป็นมืออาชีพที่สุจริต เพราะไม่ต้องการให้เกิดปัญหาที่ยุ่งยากและคดีความตามในภายหลัง แต่สิ่งที่กรมฯ ต้องติดตามพฤติกรรมอย่างใกล้ชิดคือ ชิปปิ้งประเภทบุคคลและบริษัทชิปปิ้งขนาดกลางซึ่งยอมรับว่าทั้ง 2 กลุ่มนี้มีความเสี่ยงในเรื่องการทุจริตมากที่สุด.