“บิ๊กตู่” โรดโชว์เวทีโลก ย้ำโรดแม็พเลือกตั้งปี 60
ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญครั้งที่ 71 ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 18-23 ก.ย.
เป็นเวทีใหญ่อีกเวทีหนึ่ง ของ“ บิ๊กตู่ ” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่มีกำหนดการเดินทางเข้าร่วมประชุมเวทีนี้เป็นครั้งที่สาม แต่ครั้งนี้มาทั้งในฐานะผู้นำประเทศไทย และ “ประธานกลุ่มความร่วมมือประเทศกำลังพัฒนา (กลุ่มจี 77)”
รวมถึงยังมีกำหนดการที่น่าสนใจตามมาด้วยในการเดินทางทริปเดียวกีน คือ การประชุมสุดยอดระดับผู้นำในด้านผู้ลี้ภัยที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ “ บารัค โอบามา ” และเป็นเจ้าภาพร่วมกับ “ บัน คีมูน ” เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น)
มีวาระเพื่อหารือและแสดงเจตนารมณ์ทางการเมือง รวมถึงการบริหารจัดการวิกฤตการณ์เกี่ยวกับผู้ลี้ภัย ซึ่งนับวันจะเห็นว่ามีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
โดยมีผู้นำจากหลายประเทศเข้าร่วมประมาณ 30-40 ประเทศ อาทิ แคนาดา สวีเดน เยอรมัน และ 1 ในนั้นก็มี “ บิ๊กตู่ ” ที่ “ โอบามา ” ส่งหนังสือเทียบเชิญให้เข้าร่วมวงประชุมครั้งนี้ด้วย
งานนี้ต้องถือว่าเป็นคิวโลดแล่นโชว์ตัวบนเวทีโลกครั้งนี้ เป็นงานใหญ่ของ “ บิ๊กตู่ ” ในรอบไม่ถึง 1 เดือน เพราะเพิ่งกลับจากการประชุมผู้นำกลุ่มจี 20 ที่ประเทศจีน และประชุมสุดยอดอาเซียนที่ประเทศลาว มาหมาดๆ
อย่างที่ทราบกรดีว่า ก่อนร่วมวงยูเอ็น “ บิ๊กตู่ ” เพิ่งคลายกฎเหล็กใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 55/2559 ยกเลิกการนำคดีความมั่นคง 4 ประเภทขึ้นศาลทหาร โดยให้กลับไปพิจารณาในศาลปกติ ทำให้มองได้ว่า เหตุผลเพื่อผ่อนคล้ายสถานการณ์ ลดแรงดันจากต่างชาติ ที่จับจ้องกระบวนการยุติธรรมของไทย และปมสิทธิมนุษยชนก่อนหน้านี้
เห็นได้จากถ้อยแถลงของ “ ผู้นำประเทศไทย ” บนยืนยันชัดเจนว่า หากปราศจากสันติภาพและความมั่นคง หรือหากสิทธิของประชาชนถูกละเมิดและไม่ได้รับการยอมรับ
“ รัฐบาลไทยได้วางรากฐานเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปตามโรดแม็พได้ในปลายปี 2560 ซึ่งการออกเสียงลงประชามตินี้สะท้อนถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลที่จะส่งเสริมกระบวนการประชาธิปไตย โดยตระหนักถึงเสียงสะท้อนจากประชาคมระหว่างประเทศ และเมื่อสถานการณ์บ้านเมืองดำเนินไปสู่สภาวะปกติสุขแล้ว รัฐบาลก็ผ่อนคลายมาตรการชั่วคราวที่ไม่จำเป็น เช่น การประกาศยกเลิกการนำพลเรือนขึ้น ศาลทหารเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ”
แน่นอนว่าการผ่อนคลายสถานการณ์ครั้งนี้ ส่งผลให้ปฏิกิริยาการกดดันจากชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ลดลง หลังจากที่ก่อนหน้านี้องค์กรต่าง ๆ อาทิ ยูเอ็น และองค์กรด้านสิทธิมนุษย์ชน มักแสดงท่าทีอันแข็งกร้าวและไม่ยอมรับการปฏิบัติการรัฐประหารในประเทศไทย
ขณะเดียวกันก็ลงล็อกเข้าเป้า พอดิบพอดีกับท่าทีที่อ่อนลงของ “ กลิน ที เดวีส์ ” เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ที่ยอมรับว่า
“ การลงประชามติของไทยว่ามีเสรีภาพ และความยุติธรรมพอสมควร ซึ่งเราต้องการให้ไทยเป็นประเทศที่แข็งแกร่ง มีเสรีภาพ และเป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตย รวมถึงขณะนี้เห็นได้ชัดเจนว่าประเทศไทยจะเดินไปตามโรดแม็พที่คสช.กำหนดไว้ ”
เรียกได้ว่าการย้ำโรดแม็พกับเวทีโลกเป็นครั้งที่สอง ถึงปฏิทินการเลือกตั้งในปี 2560 กับ ท่าทีปรับโหมดลดโทนแข็งกร้าวครั้งนี้ของ “ บิ๊กตู่ ” ได้ผลสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ เพราะทำเอาบรรยากาศภายนอกประเทศจากนานาชาติที่คอยจับจ้องก่อนหน้านี้ เริ่มลดแรงกดดัน ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดส่งผลให้ภาพลักษณ์ “ รัฐบาลทหาร ” ไม่ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากสายตานานาชาติอย่างที่ต้องเผชิญมาก่อนหน้านี้.