หุ้นแร่หายากพุ่งจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ
ราคาหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับแร่หายาก (rare earth) พุ่งทะยานขึ้น นำโดยบริษัทผู้ผลิตจีน หลังจากประธานาธิบดีสีจิ้นผิงไปเยือนบริษัทแร่หายากนี้ทางตอนใต้ของจีนก่อให้เกิดการเก็งกำไรว่าภาคส่วนนี้จะมีบทบาทสำคัญในสงครามการค้าจีน – สหรัฐฯ
โดยเมื่อวันที่ 20 พ.ค. สื่อภาครัฐของจีนรายงานว่า ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้เดินทางไปเยือนบริษัท JL MAG Rare-Earth ในมณฑลเจียงซี ส่งผลให้ดัชนี MVIS Global Rare Earth / Strategic Minerals ซึ่งติดตามหุ้นของ 20 ผู้ผลิตจาก 10 ประเทศ รวมทั้งจีน ออสเตรเลีย และแคนาดา พุ่งขึ้น 6.4% เมื่อวันที่ 21 พ.ค. นับเป็นการทำกำไรภายในวันเดียวสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2554 เป็นต้นมา
ในปี 2557 – 2560 สหรัฐฯนำเข้าแร่หายากจากจีนมากถึง 80% จากทั้งหมด โดยแร่หายากเป็นกลุ่มแร่ธาตุที่มี 17 ชิ้นส่วนเคมีที่ใช้อยู่ในผลิตภัณฑ์บริโภคไฮเทค และอุปกรณ์ของกองทัพ
จนถึงตอนนี้ การส่งออกแร่หายากจากจีนยังได้รับการยกเว้นไม่ถูกเก็บภาษีจากสหรัฐฯ ซึ่งตัดสินใจไม่ขึ้นภาษีนำเข้าในส่วนนี้ และแร่ธาตุสำคัญอื่นๆจากจีน แต่จีนปรับขึ้นภาษีนำเข้าแร่หายากจากสหรัฐฯจากเดิม 10% เป็น 25% ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.
นักวิเคราะห์ระบุว่า การไปเยือนของประธานาธิบดีสีอาจเป็นการส่งสัญญาณว่าจีนกำลังพิจารณาการใช้แร่หายากเป็นอาวุธในสงครามการค้า ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัทจีนหลายแห่ง
ราคาหุ้นบริษัท JL MAG Rare-Earth พุ่งขึ้นสูงสุด 10% เมื่อวันที่ 20 พ.ค. หลังการเยือนของประธานาธิบดีสี และปรับขึ้นอีก 10% ในวันที่ 21 พ.ค.
โดยหุ้นของบริษัท Innuovo Technology ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ก็ปรับเพิ่มขึ้นถึง 10% สูงที่สุดตั้งแต่เดือนต.ค.2560 จนถึงเดือนพ.ค.หุ้นของบริษัทนี้พุ่งขึ้นมาถึง 54.7% แล้ว
ขณะที่ราคาหุ้นของ Yantai Zhenghai Magnetic Material, Chengdu Galaxy Magnets Co Ltd และ Jiangmen Kanhoo Industry Co Ltd ปรับเพิ่มขึ้นถึง 9% เช่นกัน
ในฮ่องกง หุ้น China Rare Earth Holdings พุ่งทะยานขึ้นกว่า 80% แต่การปรับขึ้นไม่รวมผู้ผลิตในจีน
เมื่อถูกถามว่าจีนกำลังพิจารณาการจำกัดการส่งออกแร่หายากไปสหรัฐฯเพื่อเป็นการโต้กลับหรือไม่ ลู่กัง โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนระบุเมื่อวันที่ 20 พ.ค.ว่า การเยือนของประธานาธิบดีสีเป็นเหตุการณ์ปกติ และไม่ควรตีความในประเด็นนี้มากจนเกินไป
การจำกัดปริมาณการส่งออกแร่หายากไปสหรัฐฯจะส่งผลกระทบอย่างมาก เพราะสหรัฐฯต้องพึ่งพาจีน จากข้อมูลของโบรกเกอร์ Pacific Securities
อย่างไรก็ตาม RBC Capital เตือนว่า การแบนการส่งออกของจีนอาจเป็นการส่งเสริมการผลิตแร่หายากในประเทศอื่น และพยายามช่วงชิงตลาดจากจีน
“ หากจีนขึ้นราคากับสหรัฐฯ หรือหยุดการส่งออกแร่หายากโดยสิ้นเชิง จะเป็นการเร่งกระบวนการพัฒนาให้เกิดขึ้นกับซัพพลายเออร์ทางเลือกในประเทศอื่น ทั้งบราซิล เวียดนาม รัสเซีย อินเดีย และออสเตรเลีย ซึ่งต่างก็พร้อมจะช่วงชิงตลาดในส่วนนี้”