จีนใช้จ่ายพุ่งช่วงวันหยุดแรงงาน
การที่รัฐบาลจีนเพิ่มเวลาช่วงวันหยุดแรงงานจากวันที่ 1 พ.ค.เพียงวันเดียวตามปกติทุกปี กลายเป็น 4 วันในปีนี้สามารถบรรลุตามเป้าหมายในการกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค จากตัวเลขของทางการ
โดยกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวระบุบนเว็บไซต์ว่า ระหว่างวันที่ 1 – 4 เม.ย. รายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 16.1% เมื่เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 117,700 ล้านหยวน ( 557,898 ล้านบาท ) ขณะที่จำนวน ‘นักท่องเที่ยว’ เพิ่มขึ้น 13.7% เป็น 195 ล้านคน
ขณะเดียวกัน รายได้ของโรงภาพยนตร์พุ่งทะยานขึ้นสูงกว่า 1,500 ล้านหยวน ( 7,110ล้านบาท ) จากเดิมประมาณ 990 ล้านหยวน ( 4,266 ล้านบาท ) ในปี 2561 เนื่องจากช่วงวันหยุดมีขึ้นหลังจากการเปิดตัวฉายภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์จากฮอลลีวูดอย่าง Avengers : Endgame เพียงสัปดาห์เดียว
ทางกระทรวงระบุว่า รัฐบาลจีนประกาศขยายเวลาช่วงวันหยุดของวันแรงงานในช่วงปลายเดือนเม.ย. เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค
ในช่วงวันหยุด 4 วัน ประมาณ 38% ของนักท่องเที่ยวมีการใช้จ่ายระหว่าง 501 – 1,000 หยวน ( 2,375 – 4,740 บาท ) เมื่อเทียบกับ 36.8% ที่มีการใช้จ่ายในระดับนี้ในช่วงวันหยุดเช็งเม้ง 3 วันของเดือนเม.ย.
อู ฉี เจ้าหน้าที่อาวุโสของ Pangoal Institution ซึ่งเป็นสำนักคิดในกรุงปักกิ่งระบุว่า การตัดสินใจของรัฐบาลในการเพิ่มเวลาวันหยุดเป็นส่วนหนึ่งของแผนรับมือกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่ยังเป็นขาลง “ การบริโภคมีความสำคัญในการสร้างตลาดภายในประเทศให้แข็งแกร่ง ขณะที่ผลกระทบของการเติบโตด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานกำลังอ่อนแอลง” เขากล่าว “ และเดือนพ.ค.ยังเป็นช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายของผู้บริโภคด้วย”
จีนพยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจจากการเน้นที่การลงทุน ( ซึ่งขับเคลื่อนให้ประเทศเติบโตมานานหลายทศวรรษ และหนุนให้จีนกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก) มาเป็นการบริโภค การเปลี่ยนผ่านกลายเป็นเรื่องเร่งด่วนกว่าเดิม หลังจากฤดูร้อนปีที่แล้วที่สหรัฐฯเริ่มทำสงครามการค้ากับจีนด้วยกำแพงภาษี ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน
จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (NBS) การบริโภคคิดเป็น 65.1% ของ GDP ที่แข็งแกร่งเกินคาดการณ์อยู่ที่ 6.4% ในไตรมาสแรกของปีนี้ แม้ยอดขายค้าปลีกจะเติบโตเพียง 8.7% ในเดือนมี.ค.
ทางการจีนระบุว่า กำลังพิจารณาเงินอุดหนุนเพื่อกระตุ้นดีมานด์สำหรับรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน แต่แผนนี้ยังไม่มีการยืนยัน
โดยจีนยังพยายามส่งเสริมการบริโภคด้านบริการ เช่น การท่องเที่ยวและบันเทิง ซึ่งคิดเป็น 47.7% ของการบริโภคโดยรวมในไตรมาสแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 46.3% ในปีก่อน
“ การบริโภคเป็นพื้นฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ยังไม่มีการตระหนักถึงศักยภาพที่แท้จริงของการบริโภค” เหมาเจิ้งหยง โฆษกของ NBS ระบุในเดือนเม.ย. “ต้องตาม ทันซัพพลายของสินค้าคุณภาพสูง เพราะยังมีพื้นที่ของการบริโภคในครัวเรือนเหลืออยู่อีกมาก”.