จีนมุ่งขจัดความยากจนตามแผน

เป้าหมายของจีนคือทำให้รายได้ขั้นต่ำต่อปีของประชากรอยู่ที่ 4,000 หยวน (ราว 19,120 บาท) ทั่วประเทศภายในสิ้นปี 63
จีนมีแผนจะยกระดับคุณภาพชีวิตประชากรในชนบท 10 ล้านคนให้พ้นจากความยากจนในปีนี้ เจ้าหน้าที่อาวุโสระบุเมื่อวันที่ 7 มี.ค. ซึ่งจะทำให้ชาวจีนอีกประมาณ 6 ล้านคนยังคงต้องรอคอยเพื่อจะพลิกฟื้นจากความยากลำบาก เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายในการกำจัดความยากจนทั่วประเทศภายในปี 63
คาดการณ์ว่าจะมีมากกว่า 300 เขตที่จะถูกลบออกจากรายชื่อพื้นที่ยากจนในปีนี้ และที่เหลือจะถูกลบออกจากรายชื่อภายในปีหน้า หากทุกอย่างดำเนินไปได้ด้วยดี หลิวหย่งฝู ผอ.ของสำนักงานบรรเทาความยากจนและพัฒนา ระบุในการแถลงข่าวนอกรอบในระหว่างการประชุมประจำปีของสภาประชาชนแห่งชาติ
จีนประสบความสำเร็จอย่างดีในการบรรเทาความยากจนในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่การประชุมสภาพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 18 ในเดือนพ.ย.55 จำนวนประชากรที่ยากจนลดลงจาก 99 ล้านคนในปี 55 ลงมาอยู่ที่ 16.6 ล้านคนในปีที่แล้ว หลิวระบุ
โดย 8 เขตเทศบาลเมืองและภูมิภาคระดับมณฑลคือ ปักกิ่ง เทียนจิน เซี่ยงไฮ้ เจียงซู เจ้อเจียงกวางตุ้ง ฝูเจี้ยน และชานตง สามารถขุดรากถอนโคนความยากจนลงได้
หลิวกล่าวว่า ในบรรดา 832 เขตพื้นที่ยากจนทั่วประเทศ มี 28 เขตที่ถูกลบออกจากรายชื่อได้ในปี 2559 และ 125 เขตในปี 2560 ขณะที่อีก 280 เขตพื้นที่มีฐานะร่ำรวยขึ้นในปีที่แล้ว และคาดการณ์ว่าจะถูกลบออกจากรายชื่อหลังการประเมินขั้นสุดท้าย ส่วนที่เหลือ ซึ่งน้อยกว่า 400 เขต ตั้งเป้าว่าจะสำเร็จได้ตามเป้าในปีนี้และปีหน้า
การบรรเทาความยากจนได้ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมท้องถิ่น ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้บริการสาธารณะดีขึ้น และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่เพียงเอื้อประโยชน์กับผู้ที่อาศัยอย่างเป็นทางการ แต่ครอบคลุมผู้อาศัยทั้งหมดในพื้นที่ทุรกันดาร เขาเสริม
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีเวลาเหลือเพียง 20 เดือนเท่านั้นก็จะครบกำหนดเวลาตามเป้าหมายการขจัดความยากจน หลิวกล่าว และจะให้การเอาใจใส่เป็นพิเศษกับคุณภาพของการบรรเทาความยากจน
บางส่วนของเป้าหมายคือรายได้ขั้นต่ำต่อปีต้องถึง 4,000 หยวนภายในปี 63 และในเวลานั้น ประชาชนไม่ควรต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหาร เสื้อผ้า และความต้องการบริการสาธารณสุข การศึกษาและที่อยู่อาศัย
เมื่อถูกถามว่าเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและสงครามการค้าจะส่งผลกระทบกับกระบวนการบรรเทาความยากจนหรือไม่ หลิวกล่าวว่า ปัจัยภายนอกอาจทำให้เกิดความผันผวน แต่จีนจะใช้มาตรการเพื่อลดผลกระทบให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และจะบรรลุตามเป้าหมายการขจัดความยากจนได้ภายในสิ้นปี 63
โดยเขาระบุว่า ปัจจัยลบอาจมีผลให้บริษัทจ้างพนักงานน้อยลง ทำให้ยากขึ้นสำหรับคนยากจนที่จะหางานทำ แต่ปัญหาเหล่านี้อาจชดเชยด้วยมาตรการอื่น เช่น พัฒนาอุตสาหกรรมในหมู่บ้านยากจน เพื่อช่วยให้พวกเขามีงานทำโดยไม่ต้องอพยพเข้าไปทำงานที่เมืองใหญ่
“คุณควรเชื่อว่า จีนมีความสามารถและมีมาตรการ (ที่จะบรรลุตามเป้าปี 63)” เขากล่าว.