โรงงานจีนหาแรงงานยากขึ้น
โรงงานจำนวนมากในเมืองศูนย์กลางการผลิตของจีนต้องดิ้นรนอย่างหนักในการหาแรงงาน เพราะแรงงานอพยพรุ่นใหม่หันหลังให้กับงานในภาคการผลิตและไปหางานอื่นทีมี “อิสระมากขึ้น” ในภาคบริการที่กำลังเติบโต
หลี่เถา เป็นหนึ่งในตัวอย่างนั้น เขาเป็นพนักงานส่งอาหารในเมืองกวางโจว และระบุว่า อาชีพนี้เป็นทางเลือกที่ดีกว่าการทำงานในโรงงาน
“ ตอนนี้ มีคนน้อยลงเรื่อยๆที่อยากทำงานในโรงงาน” หลี่ซึ่งอพยพมาจากชนบทกล่าว “ เราสามารถหางานที่ได้เงิน 5,000 – 7,000 หยวน ( ราว 23,650 – 33,110 บาท) ต่อเดือนด้วยการส่งของ แต่เรามีอิสระมากกว่าที่จะทำงานเป็นรปภ.ในโรงงาน”
การทำงานนานหลายชั่วโมง ที่กดดัน ค่าจ้างและความมั่นคงต่ำในอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งเป็นสิ่งที่แรงงานอพยพในจีนต้องประสบมานานหลายทศวรรษ ทำให้คนรุ่นใหม่อย่างหลี่เปลี่ยนไปมองหางานอื่นในภาคบริการที่กำลังบูมในช่วง 2 – 3 ปีมานี้
โดยธุรกิจส่งของเป็นทางเลือกยอดนิยม ทั่วประเทศจีน ธุรกิจนี้มีการเติบโตขึ้นประมาณ 24%ในปี 2561 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
“ เราเล่นเกมออนไลน์และแชทได้ระหว่างพักเบรค ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้เลยถ้าทำงานในโรงงานที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม” หลี่กล่าว “ มีหลายคนที่ทำงานในโรงงาน ก่อนที่จะมาเป็นคนส่งของแบบผม”
เหม่ยถวน เตียนผิง หนึ่งในผู้ให้บริการเดลิเวอรี่รายใหญ่ที่สุดของจีน มีพนักงานส่งของกว่า 2.7 ล้านคนในปี 2561 โดยมีทั้งพนักงานประจำและพนักงานพาร์ทไทม์ เติบโตขึ้นถึง 22% เมื่อเทียบกับปี 2560 จากการสำรวจพนักงานทั้งหมดของบริษัทพบว่า 77% ของพนักงานส่งอาหารเป็นแรงงานอพยพ โดยส่วนใหญ่เกิดหลังปี ค.ศ. 1980
หลิวไคหมิง ผอ. Institute of Comtemporary Observation ที่มีสำนักงานในนครเซินเจิ้น ซึ่งจับตาสภาพการทำงานในสัญญาการทำงานของผู้ผลิตนับร้อยรายระบุว่า ภาคบริการเติบโตขึ้นมาอย่างมากในทศวรรษ 2000 และได้รองรับแรงงานที่ถูกเลิกจ้างจากภาคการผลิต เขากล่าวว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะเป็นการกำหนดอนาคตของการทำงานในภาคการผลิต เนื่องจากโรงงานหลายแห่งตัดสินใจย้ายโรงงานออกจากจีน
กระทรวงแรงงานในตงกวน มณฑลกวางตุ้งคาดการณ์ว่า 800 โรงงานกำลังขาดแคลนแรงงานประมาณ 100,000 คน หลังช่วงวันหยุดตรุษจีน
แม้จะปรับขึ้นค่าจ้าง แต่หลายโรงงานยังไม่สามารถดึงดูดแรงงานให้มาทำงานได้ โรงงานเสื้อผ้าในเขตไห่จู ของเมืองกวางโจวระบุว่า เสนอค่าจ้าง 7,000 หยวนต่อเดือนพร้อมที่พักฟรี ก็ยังไม่สามารถหาแรงงานตัดเย็บที่มีทักษะมาทำงานได้เพียงพอ
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐรับทราบสถานการณ์นี้ ทำให้รัฐบาลในมณฑลเจียงซู กวางตุ้งและเจ้อเจียง ประกาศแผนจะจัดงานรับสมัครงานเพิ่มกว่า 4,000 อัตรา ทั่วทั้ง 3 มณฑลในเดือนก.พ. – มี.ค. เพื่อหาแรงงานป้อนโรงงานได้เพียงพอ.