จีนหนุนค่าจ้างทั่วโลกโต
จีนมีบทบาทสำคัญที่ช่วยหนุนการเติบโตของค่าจ้างทั่วโลกจากปี 2551 – 2560 สื่อภาครัฐของจีนรายงาน โดยอ้างอิงจากข้อมูลของนักวิเคราะห์ในท้องถิ่น และรายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)
ในรายงานค่าจ้างโลกประจำปี 2561/2562 ที่มีการเผยแพร่เมื่อเดือนพ.ย.พบว่า การเติบโตของค่าจ้างทั่วโลกในปี 2560 ไม่เพียงต่ำกว่าปี 2559
เท่านั้น แต่ยังเป็นการเติบโตที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา และยังคงต่ำกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤตการเงินทั่วโลกด้วย
การเติบโตของค่าจ้างทั่วโลกในแง่ความเป็นจริง ลดลงจาก 2.4% ในปี 2559 ลงมาอยู่ที่ 1.8% ในปี 2560
หากไม่รวมจีน ซึ่งมีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกและมีการเติบโตของค่าจ้างอย่างรวดเร็วที่ส่งผลต่อค่าจ้างเฉลี่ยทั่วโลก ตัวเลขการเติบโตของค่าแรงในความเป็นจริงจะลดลงจาก 1.8% ในปี 2559 ลงมาอยู่ที่ 1.1% ในปี 2560 อ้างอิงจากข้อมูลที่ระบุในรายงานของ ILO
“ เราเห็นแนวโน้มที่น่ากังวลของการเติบโตของค่าจ้างทั่วโลก ” Guy Ryder ผอ.ของ ILO ระบุในการแถลงข่าวของสหประชาชาติที่กรุงเจนีวา โดยสังเกตว่าการเติบโตของค่าจ้างที่ชะลอตัวมีแนวโน้มจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในปีหน้า
โดยรายงานระบุว่า “ ขณะที่ค่าแรงปรับขึ้นอย่างรวดเร็วในทศวรรษล่าสุดในบางประเทศ โดยเฉพาะจีน แต่ในหลายประเทศ ค่าจ้างยังคงต่ำ และไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมความจำเป็นในการใช้จ่ายของแรงงานและครอบครัวของพวกเขา”
ทั้งนี้ รายงานของ ILO จัดทำขึ้นบนพื้นฐานของข้อมูลจาก 136 ประเทศ
ผู้เชี่ยวชาญย้ำชัดถึงอิทธิพลของจีนที่มีต่อค่าจ้างทั่วโลก เนื่องจากจีนมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและมีการเปลี่ยนแปลงแรงขับเคลื่อนการเติบโต
“ จีนมีผลมากกับการเติบโตของค่าจ้างทั่วโลก ” ดร.ซูจงซิง คณบดีคณะการจัดการทรัพยากรมนุษย์ที่มหาวิทยาลัยเหรินหมินของจีนกล่าว
“ จีนมีจำนวนแรงงานจำนวนมาก ยิ่งกว่านั้นคือค่าจ้างเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีมานี้ หลายปัจจัยเหล่านี้ของจีนช่วยหนุนการเติบโตของค่าจ้างทั่วโลก ”
ซูติง นักเศรษฐศาสตร์ด้านค่าจ้างและความสัมพันธ์แรงงานของ ILO และเป็นหนึ่งในทีมผู้เขียนรายงานระบุว่า การเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาเศรษฐกิจจีนยังช่วยทำให้เกิดปัจจัยอื่นๆอีก
“ เศรษฐกิจในจีนเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในทศวรรษล่าสุด แม้ในความเป็นจริงคือ แรงขับเคลื่อนการเติบโตมาจากหลายภาคส่วนที่แตกต่างกัน ” เขากล่าว “ ทั้งหมดแปรเปลี่ยนไปเป็นการจ้างงานในระดับสูงและเพิ่มค่าจ้างให้สูงขึ้น”
อ้างอิงจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (NBS) 33% ของลูกจ้างชาวจีนทำงานในภาคส่วนอุตสาหกรรมในปี 2551 เมื่อเปรียบเทียบกับ 45% หรือมากกว่า 349 ล้านคนในปี 2560
ในช่วงเวลาเหล่านั้น ค่าจ้างเฉลี่ยของจีนเพิ่มขึ้น 8.2% ต่อปีในทศวรรษล่าสุด สูงกว่าอัตราค่าจ้างเฉลี่ยทั่วโลก อ้างอิงจากรายงานของ ILO
โดยค่าจ้างเฉลี่ยจริงปรับเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าในจีน ระหว่างปี 2551 – 2560 แม้กลุ่มประเทศ G-20 รวมถึงญี่ปุ่น อังกฤษและอิตาลีเอง ยังประสบกับการชะลอตัวของค่าจ้างและความผันผวน
ซูกล่าวว่า ค่าจ้างของจีนยังคงอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น เพราะประเทศมีการปรับตัวได้เป็นอย่างดีให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงของตลาดต่างประเทศและในประเทศ
“ เมื่อการค้าระหว่างประเทศชะลอตัวลง จีนก็ส่งเสริมดีมานด์ในประเทศและการจ้างงานในหลายวิธีที่แตกต่างกัน ” เขากล่าว “ ดังนั้น ในหลายมณฑล มีการนำนโยบายค่าแรงขั้นต่ำมาใช้เพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ”
โดยเขาระบุว่า การพัฒนาเป็นเมืองอย่างรวดเร็วของจีนเป็นอีกตัวเร่งสำหรับการเติบโตของค่าจ้าง
“ ผู้คนที่เป็นเกษตรกรในชนบท ตอนนี้ทำงานรับเงินเดือนอยู่ในเมือง ช่วยเพิ่มค่าเฉลี่ยการเติบโตของค่าจ้าง ” เขากล่าว
ทั้งนี้ NBS พบว่ามีจำนวนผู้อยู่อาศัยถาวรในเมืองถึง 813 ล้านคน คิดเป็น 58% ของจำนวนประชากรโดยรวมทั้งประเทศในปี 2560 เมื่อเทียบกับ 47% ในปี 2551.