ศก.จีนไตรมาส 2 โต 6.7% ตามคาด
เมื่อวันที่ 16 ก.ค.จีนโพสต์ตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 2 ที่เติบโตถึง 6.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน ลดลงเล็กน้อยจากตัวเลขเดิม 6.8% ในไตรมาสแรกของปีนี้ ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้นกับสหรัฐฯ
โดยตัวเลขที่เผยแพร่อย่างเป็นทางการเป็นไปตามการคาดการณ์ของโพลล์ของนักวิเคราะห์จากรอยเตอร์
ตัวเลขจีดีพีของจีนไม่ได้สร้างความประหลาดใจมากนัก เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนจะเริ่มเห็นชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี Fraser Howie นักวิเคราะห์อิสระให้ความเห็น
“ เศรษฐกิจจีนอาจถูกน็อกได้ และถ้ากระทบมาถึงการค้า จะส่งผลต่อหลายภาคส่วน รวมถึงอัตรางานมากมายที่เกี่ยวข้องด้วย ยอดส่งออกสุทธิที่หายไปเป็นเปอร์เซ็นต์เล็กน้อยต่อจีดีพี เหมือนสมองของเราคิดเป็นแค่ 3% ของร่างกาย แต่การสูญเสีย 3% อาจเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับคุณ” Howie กล่าวกับสื่อ CNBC
ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ มีผลต่อความรู้สึก โดยเฉพาะในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังชะลอตัวในเมืองระดับเทียร์ 1 อย่างกรุงปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ หาว โจว นักวิเคราะห์ตลาดเกิดใหม่อาวุโสที่ Commerzbank ให้ความเห็น
“ ผมคิดว่าเป็นกลยุทธ์เล็กๆน้อยๆในช่วงนี้ จีนให้คำมั่นที่จะดำเนินกระบวนการลดหนี้ทางการคลัง แต่จีนเห็นการเติบโตพอประมาณ และการเติบโตชะลอตัวลงเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจด้วย ” โจวกล่าว
การเติบโตของการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรสำหรับครึ่งปีแรกนี้ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์คือ 6.0% เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ผลผลิตอุตสาหกรรมสำหรับเดือนมิ.ย.ชะลอตัวลงมากที่สุดในรอบกว่า 2 ปีอยู่ที่ 6.0% อ้างอิงจากสถิติของรอยเตอร์
สถานการณ์ปัจจุบันเป็นสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกเนื่องจากจีนต้องการใช้นโยบายเข้มงวดทางการเงินเพื่อบังคับให้มีการลดหนี้ทางการคลัง แต่อย่างไรก็ตาม จีนจำเป็นต้องมีนโยบายผ่อนคลายทางการเงินมากขึ้นเพื่อสนับสนุนการเติบโต
รายงานของธนาคารกลางจีนที่แถลงเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.จะตัดลดจำนวนเงินทุนสำรองของธนาคารลง 0.5% พร้อมปล่อยสภาพคล่องอีก 108,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เร่งลดจำนวนหนี้สินต่อทุน และปล่อยกู้ให้บริษัทขนาดเล็ก
ความเสี่ยงจากสงครามการค้าสหรัฐฯ – จีนจะฉุดตัวเลขการเติบโตโดยรวมในอีก 2 – 3 ปีข้างหน้า หากจีนเกินดุลการค้าสหรัฐฯ น้อยลง โดยทางปักกิ่งมีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายนโยบายทางการคลัง โดยเฉพาะเมื่อการบริโภคในประเทศชะลอตัวลงจากความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้น
แม้ตัวเลขจีดีพีที่เป็นทางการของปักกิ่งถูกจับตาอย่างใกล้ชิดว่าเป็นตัวบ่งชี้สถานะของจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก แต่ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศจำนวนมากมีความข้องใจมานานถึงความจริงในรายงานตัวเลขทางการของจีน.