จีนลดหนี้กระทบประเทศศก.เกิดใหม่
การแก้ปัญหาหนี้ของจีนเป็นความเสี่ยงสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ซึ่งพึ่งพาโภคภัณฑ์อย่างสูง หรือมีความเชื่อมโยงการค้าอย่างใกล้ชิดกับจีน Fitch Ratings ระบุ
นโยบายที่มุ่งแก้ปัญหาหนี้ของจีนอาจนำไปสู่การลงทุนทางธุรกิจที่ชะลอตัว Fitch ระบุในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยคาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจะชะลอตัวลงประมาณ 4.5% ในระยะกลาง
Fitch ระบุว่า ผลกระทบจากสถานการณ์ของจีนที่มีต่อเศรษฐกิจทั่วโลกจะเห็นได้ชัด แต่จะไม่รุนแรงมากนัก จะไม่เหมือนกับการดิ่งฮวบลงมาอย่างเต็มรูปแบบ
หนึ่งในผลกระทบที่สำคัญคือราคาโภคภัณฑ์ โดย Fitch คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันและโลหะจะลดลง 5 – 10% บนพื้นฐานของสถานการณ์นี้ สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของจีนในฐานะผู้บริโภคสินค้าโภคภัณฑ์
ในเดือนเม.ย.โพลล์ของรอยเตอร์ที่ทำการสำรวจจาก 72 สถาบันชี้ให้เห็นว่า นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 6.5% ในปีนี้ และ 6.3% ในปีหน้า เนื่องจากจีนขยายเวลาในการแก้ปัญหาหนี้จากสินเชื่อที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของปี 2560 ขยายตัวอยู่ที่ 6.9% ในเงื่อนไขจริง และ 11.2% ในเงื่อนไขแค่ในนาม
นับเป็นปีที่ 3 แล้วที่จีนมีการควบคุมสถานะทางการเงิน ซึ่งค่อยๆหนุนค่าใช้จ่ายในการกู้ยืมอย่างช้าๆ และปิดกั้นทางเลือกอื่น สกัดแหล่งระดมทุนสำหรับบริษัทต่างๆ เช่น ธนาคารเงา
สัดส่วนหนี้ภาคเอกชนต่อจีดีพีของจีนสูงมากเมื่อเทียบกับมาตรฐานในระดับสากล คืออยู่ที่ 187% ในปี 2560 และคาดการณ์ว่าจะเริ่มสูงขึ้นอีกครั้งเมื่อตัวเลขจีดีพีลดลงต่ำกว่า 8% จากที่เคยสูงผิดปกติมากกว่า 11% ในปี 2560 อ้างอิงจากรายงานของ Fitch
หากรัฐบาลจีนตั้งเป้าที่จะทำให้หนี้ภาคเอกชนมีเสถียรภาพภายในปี 2565 ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจะลดลง 1% ต่อปีในระยะกลาง ขณะที่การเติบโตของการลงทุนธุรกิจจะลดลง 5% ต่อปี
ผู้ส่งออกโภคภัณฑ์ทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากการส่งออกไปจีนที่ลดจำนวนลง และการค้าที่อ่อนแรง สำนักจัดอันดับ Fitch ชี้ว่า จะส่งผลกระทบต่อประเทศชิลีมากที่สุด เนื่องจากประเทศอื่นในอเมริกาใต้มีการพึ่งพาดีมานด์จากจีนน้อยกว่าชิลี
ขณะที่ประเทศผู้ส่งออกพลังงานและโลหะอย่างประเทศแซมเบีย อาจได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากจีนเป็นแหล่งเงินทุนของกลุ่มประเทศแอฟริกาในบริเวณทะเลทรายซาฮารามากขึ้นในช่วงหลายปีมานี้
โดย Fitch ชี้ว่ามองโกเลียจะเป็นผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในเอเชีย เนื่องจากจีนเป็นผู้นำเข้าถ่านหินและแร่เหล็กทั้งหมดที่มองโกเลียส่งออก
ขณะที่ผลกระทบที่ใหญ่กว่านั้นต่อเศรษฐกิจทั่วโลกคือ หากค่าเงินของจีนอ่อนค่าลงจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง Fitch ระบุ
“เป็นเรื่องยากที่จะกำหนดกรอบเวลาว่า จีนจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเมื่อไร แต่ในบางจุดดูจะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” Brian Coulton หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่ Fitch กล่าว.