จีนลดภาษีนำเข้า 1 ก.ค.นี้
จีนจะปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าบริโภคเกือบ 1,500 รายการ ตั้งแต่เครื่องสำอางไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.นี้เป็นต้นไป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ
ความเคลื่อนไหวนี้เป็นก้าวสำคัญที่จีนได้เคยรับปากไว้กับประเทศคู่ค้า (ซึ่งรวมถึงสหรัฐฯด้วย) ว่าจีนจะนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น และเปิดกว้างให้สินค้าแบรนด์ทั่วโลกมีโอกาสในการดำเนินธุรกิจมากขึ้นในจีน
รมว.กระทรวงการคลังของจีนได้เผยแพร่รายการสินค้าที่ได้รับการปรับลดภาษีและภาษีใหม่ที่ลดลงเมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา ตามหลังการประกาศแผนการที่เน้นการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ
โดยเริ่มตั้งแต่เดือนก.ค.เป็นต้นไป อัตราภาษีเฉลี่ยของสินค้าบริโภคที่นำเข้ามา 1,449 รายการที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจะลดลงเหลือ 6.9% จากเดิม 15.7% ซึ่งจะเท่ากับการลดภาษีลงไปประมาณ 60% รมว.กระทรวงการคลังระบุในแถลงการณ์บนเว็บไซต์ของกระทรวง
ข่าวการปรับลดภาษีมีขึ้นหลังคำประกาศจากคณะรัฐมนตรีจีนเมื่อวันที่ 30 พ.ค.ว่า จีนจะลดภาษีนำเข้าสินค้าบริโภคมากมายหลายรายการ ครอบคลุมทั้งเครื่องแต่งกาย เครื่องสำอาง เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านและยา
การปรับลดภาษีครั้งนี้ ถือเป็นการปรับลดที่ส่งผลกระทบเป็นบริเวณกว้างมากกว่าการลดภาษีที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ ภาษีนำเข้าสินค้าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย รองเท้าและหมวก อุปกรณ์เครื่องใช้ในครัว และผลิตภัณฑ์ในสถานออกกำลังกายจะลดลงมากเกินครึ่งคือ ค่าเฉลี่ยของภาษีอยู่ที่ 7.1% – 15.9% โดยภาษีนำเข้าเครื่องซักผ้าและตู้เย็นลดฮวบลงมาเหลือเพียง 8% เท่านั้น จากเดิมอยู่ที่ 20.5%
นอกจากนี้ จะมีการปรับลดภาษีผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป เช่น การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จากปลาและน้ำแร่ ลดลงจาก 15.2% ลงมาอยู่ที่ 6.9% เท่านั้น
เครื่องสำอางในส่วนผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและผม ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพจะได้ประโยชน์จากการลดภาษีจากเดิม 8.4% เหลือ 2.9% เท่านั้น
และโดยเฉพาะภาษีเวชภัณฑ์ เช่นยาเพนนิซิลิน เซฟาลอสพอรีน ไปจนถึงอินซูลินจะลดลงเหลือ 0% จากก่อนหน้านี้อยู่ที่ 6%
ในขณะเดียวกัน ภาษีชั่วคราวที่บังคับใช้กับสินค้านำเข้า 210 รายการที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศจะถูกยกเลิกไป เนื่องจากเอื้อประโยชน์น้อยกว่าเมื่อเทียบกับอัตราภาษีใหม่
ในเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา จีนประกาศลดภาษีนำเข้าสินค้าบริโภคเกือบ 200 รายการ รวมทั้งอาหาร ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ ยา เสื้อผ้าและสินค้าสันทนาการลงมาอยู่ที่ 7.7% โดยเฉลี่ย จากเดิม 17.3% อ้างอิงจากข้อมูลของกระทรวงการคลัง.