หมอกควันทางเหนือของจีนเพิ่มสูงขึ้น
กระทรวงสิ่งแวดล้อมของจีนระบุเมื่อวันที่ 13 เม.ย. ว่า ตัววัดค่าหมอกควันหลักของภูมิภาคอุตสาหกรรมในประเทศจีน อย่าง ปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย เพิ่มสูงขึ้นกว่า 1 ใน 4 ในเดือน มี.ค. สร้างความกังวลเกี่ยวกับมลพิษที่เพิ่มขึ้นเมื่อสิ้นสุดการจำกัดการปล่อยมลพิษในฤดูหนาว
ละอองฝุ่นที่มีอนุภาคน้อยกว่า 2.5 ไมครอน หรือที่รู้จักกันในชื่อ PM 2.5 มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 80 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ในภูมิภาคดังกล่าว เมื่อเดือน มี.ค. โดยมีปริมาณเพิ่มขึ้น 27% จากปีก่อน
การรณรงค์ต่อต้านมลพิษเป็นระยะเวลา 6 เดือน จากทั้งหมด 28 เมืองในจีน สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดระดับอนุภาค PM2.5 ให้ลดลงให้ได้มากถึง 25% ซึ่งมีการลดผลผลิตด้านอุตสาหกรรม จำกัดการจราจร และลดการใช้ถ่านหิน
ในช่วงไตรมาสแรก ค่าของ PM2.5 ในภูมิภาค ปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย ซึ่งอยู่ภายใต้การกดดันทางการเมืองเพื่อให้จัดการเรื่องมลพิษอย่างจริงจัง มีระดับ PM2.5 ที่ลดลง 22.1% เป็น 73 ไมโครกรัม/ลบ.ม. จากระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน
แสดงให้เห็นว่าการลดผลผลิตทางอุตสาหกรรมถือว่าช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวได้อย่างที่คาดการณ์ไว้ แต่หลังจากสิ้นสุดการรณรงค์แล้วกลับสร้างความกังวลมากขึ้น เนื่องจากระดับของมลพิษนั้นมีท่าทีย้อนกลับหลังจากทางโรงงานเร่งการผลิตให้มากยิ่งขึ้น
เมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในจีน 10 แห่งในเดือน มี.ค. นั้นอยู่ในมณฑลเหอเป่ย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ผลิตเหล็กมากที่สุดในจีน
โดยเมืองถังซานและเมืองหานตานที่อยู่ในมณฑลเหอเป่ย ต่างตัดสินใจที่จะขยายระยะเวลาการรณรงค์เพื่อลดมลพิษต่อไปจนกระทั่งเดือน พ.ย.
อย่างไรก็ตาม เมืองสวีโจว เมืองอุตสาหกรรมทางตะวันออกของมณฑลเจียงซูในจีน ก็อยู่ในรายชื่อเมืองที่มีหมอกควันมากที่สุด10 เมือง ในเดือนมี.ค. และในไตรมาสแรกของปี เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าหมอกควันในจีนนั้นเริ่มเคลื่อนย้ายจากทางตอนเหนือของจีนซึ่งเป็นผลจากการรณรงค์
ปัจจุบันนี้ เมืองจีนกำลังดำเนินการในแผนปราบปรามมลพิษใหม่ในช่วงปี 2561-2563 และผู้เชี่ยวชาญได้กระตุ้นทางรัฐบาลให้สร้างมาตรการเพิ่มเพื่อจัดการกับการเพิ่มขึ้นของโอโซนในระดับภาคพื้นดินที่เพิ่มสูงยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลคุกคามด้านสุขภาพในย่านเมืองที่กำลังเติบโตและพัฒนา
เจ้าหน้าที่จีนต่างให้ความสนใจในการลดระดับ PM2.5 เพราะขนาดของอนุภาคที่เล็กนั้นสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจ โดยสามารถเข้าสู่ปอดและจะสะสมจนอาจส่งผลให้เกิดโรคปอดและโรคหัวใจ.