คปภ.รุกดึงเกษตรกรน่านทำประกันภัย
เลขาธิการ คปภ. นำทัพประกันภัยลงพื้นที่ จ.น่าน ปลุกเกษตรกรเร่งทำประกันข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พร้อมรุก CSR แบ่งปันความรักความห่วงใย สร้างฝายกั้นน้ำ ปลูกต้นไม้ มอบน้ำดื่ม หน้ากากป้องกันฝุ่น PM 2.5 หมวกเกษตรกร ก่อนจับมือหอการค้า เซ็น MOU ร่วมเป็นเครือข่ายผลักดัน “เกษตรกร- ผู้ประกอบการค้า” นำระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงธุรกิจ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ยังคงมุ่งมั่นและเดินหน้าจัดโครงการอบรมความรู้ประกันภัย “Training for the Trainers” สำหรับการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประจำปี 2562 ระหว่างวันที่ 29-30 พ.ค.62 ที่ จ.น่าน และนับเป็นครั้งที่ 5 ของการจัดอบรมตามโครงการนี้
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ รปภ. กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา (61) จ.น่าน มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปี 2.54 แสนไร่ มีการทำประกันภัยข้าวนาปี 1.17 แสนไร่คิดเป็น 46.14% (อยู่อันดับที่43) ของประเทศ โดยมีเกษตรทำประกันภัยข้าวนาปี 44,176 ราย และยังมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อีก 7 แสนไร่ ติดอันดับ 2 ของประเทศซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและภัยจากศัตรูพืช ดังนั้น จึงต้องให้ความรู้ด้านประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พร้อมทั้งผลักดันให้นำระบบประกันภัยเข้ามาเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติให้กับเกษตรกรในพื้นที่
โดยปีนี้เป็นปีแรกที่รัฐบาลให้งบประมาณสนับสนุนเบี้ยประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 121.80 ล้านบาท ทั้งนี้สำนักงาน คปภ. คาดหวังว่า จ.น่านจะมีการทำประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เต็มจำนวนพื้นที่เพาะปลูกที่มีเอกสารสิทธิถูกต้องจำนวน 7 แสนไร่
สำหรับรูปแบบการอบรมความรู้ด้านประกันภัยที่ จ.น่าน มีความพิเศษกว่าการลงพื้นที่ในครั้งก่อนๆ ที่ผ่านมา กล่าวคือ มีการจัดกิจกรรม CSR เพื่อสังคมด้วย โดยในวันที่ 29 พ.ค. เลขาธิการ รปภ.และคณะวิทยากรเจ้าหน้าที่สำนักงาน คปภ. ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมประกันภัยได้ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรใน อ.เวียงสา 250 ราย ณ หอประชุมที่ว่าการ อ.เวียงสา เพื่อรับฟังสภาพปัญหาอุปสรรคข้อคิดเห็น ตลอดจนข้อเสนอแนะของการทำประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
โดยเกษตรกรได้สะท้อนสภาพปัญหาและอุปสรรคต่างๆ เช่น กรณีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ไม่สามารถทำประกันภัยได้ กรณีมีเกษตรกรบางรายที่ไม่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร เนื่องจากไม่มีสำเนาเอกสารสิทธิ์ เช่น กรณีผู้ให้เช่าไม่ย่อมให้เอกสารสิทธิ์แก่ผู้เช่าเพื่อนำไปประกอบการขึ้นทะเบียนเกษตรกร กรณีมีความเสียหายเกิดขึ้นจริง แต่ไม่มีการประกาศภัยพิบัติเป็นต้น
ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้รับการชี้แจง โดยคณะวิทยากรจากสำนักงาน คปภ. เจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. และผู้แทนจากสมาคมประกันวินาศภัยไทย จนเป็นที่เข้าใจของเกษตรกร รวมทั้งได้มีการรวบรวมข้อมูลจากการลงพื้นที่พบปะเกษตรกรในครั้งนี้ นำไปปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการรับประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้ดียิ่งขึ้น
ต่อจากนั้นในช่วงบ่าย เลขาธิการคปภ. พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานคปภ. ได้ร่วมกับผู้บริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทยและภาคอุตสาหกรรมประกันภัยลงพื้นที่ทำกิจกรรม CSR สร้างฝายกั้นน้ำ ปลูกต้นไม้ ณ อุทยานแห่งชาติศรีน่าน รวมทั้งมอบน้ำดื่มหน้ากากป้องกันฝุ่น PM 2.5 หมวกเกษตรกรตลอดจนเครื่องอุปโภคและบริโภคเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่อุทยานในการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ โดยมีนายบัณฑิต ฉิมชาติ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีน่านเป็นผู้รับมอบ
ถัดมาในวันที่ 30 พ.ค.62 เลขาธิการคปภ. เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) สำหรับการประกันภัยข้าวนาปี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ประจำปี 2562 ณ ห้องบอลรูม ร.ร.น่านกรีนเลควิวรีสอร์ท โดยมีนายวิบูรณ์ แววบัณฑิต รองผจว.น่าน ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ และกล่าวขอบคุณสำนักงาน คปภ. ที่เลือก จ.น่านเป็น 1 ใน 10 จังหวัด เพื่อจัดอบรมความรู้ด้านประกันภัยในปีนี้ อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับเกษตรกรใน จ.น่าน เพื่อนำระบบประกันภัยใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป
หลังจากพิธีเปิดโครงการอบรมฯดังกล่าวสำนักงาน คปภ. โดย ดร.สุทธิพล ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) ว่าด้วยเรื่องการบูรณาการส่งเสริมความรู้และสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยกับหอการค้าจังหวัดน่าน โดยมีนายศรีรุ้ง รัตนศิลา ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดน่าน ร่วมลงนาม ซึ่งกรอบความร่วมมือดังกล่าว มุ่งเน้นการส่งเสริมและผลักดันให้ผู้ประกอบการพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมใน จ.น่าน ได้รับความรู้ด้านการประกันภัยืเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงและเป็นหลักประกันความมั่นคงในการดำเนินธุรกิจตลอดจนเป็นเครือข่ายในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านประกันภัยไปสู่เกษตรกรและภาคส่วนต่างๆในพื้นที่ จ.น่านอย่างครบวงจร
เลขาธิการคปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงพื้นที่เพื่อรับฟังสภาพปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ของเกษตรกร จ.น่านในครั้งนี้ ถือเป็นการปลุกให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตื่นตัวที่จะนำระบบประกันภัยเข้ามาใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ รวมทั้งการจัดเวทีให้ความรู้ด้านประกันภัย ซึ่งมีหัวข้อที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อ Trainers เพื่อส่งต่อองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อาทิ หลักการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยงด้วยการประกันภัย, กรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีการผลิต 2562 , การประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉินตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 , การขึ้น/ปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรและการยื่นแบบขอรับความช่วยเหลือตามแบบ กษ 01 , การรับประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562 และการเสวนาแนวทางการปฏิบัติปัญหาและอุปสรรคของโครงการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562
โดยคณะวิทยากรจาก 5 หน่วยงาน ได้แก่สำนักงาน คปภ. สมาคมประกันวินาศภัยไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และกรมส่งเสริมการเกษตร ดังนั้น จึงอยากเชิญชวนให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เร่งดำเนินการขึ้นทะเบียนเกษตรกรเพื่อได้รับสิทธิ์ทำประกันภัยข้าวนาปี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ประจำปี 2562 ได้ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 30 มิ.ย.62 (ยกเว้นภาคใต้ถึง 15 ธ.ค.62) และหากต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับการประกันภัยข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สามารถดาวน์โหลดข้อมูลได้ที่แอพพลิเคชั่น “กูรูประกันข้าว” หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186.