จีนตั้งกระทรวงสิ่งแวดล้อม/ทรัพยากรธรรมชาติ
จีนจะจัดตั้งกระทรวงใหม่เพิ่มขึ้นเพื่อกำกับดูแลการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้จะเป็นการรวบอำนาจการกำกับดูแลจากหลายหน่วยงานเข้าด้วยกันเพื่อให้ประเทศสามารถต่อสู้กับมลภาวะได้ดีขึ้น อ้างอิงจากแผนที่มีการเปิดเผยเมื่อวันที่ 13 มี.ค.โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน
ทั้งนี้ สองกระทรวงใหม่ของจีนที่จะมีการจัดตั้งขึ้นคือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และกระทรวงสิ่งแวดล้อมนิเวศวิทยา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอต่อรัฐบาลจากรัฐสภาของจีน หรือสภาประชาชนแห่งชาติ โดยนายหวังหยง สมาชิกสภาแห่งรัฐ
การเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพจะเป็นการยกระดับจากกระทรวงคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่เดิม ให้กลายเป็นกระทรวงสิ่งแวดล้อมนิเวศวิทยา
โดยกระทรวงแห่งใหม่นี้จะจัดการกับปัญหาสำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งก่อนหน้านี้เคยอยู่ในการกำกับดูแลของคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ
นอกจากนี้ กระทรวงนี้ยังจะดูแลมลภาวะทางทะเล แม่น้ำ และน้ำบาดาล ความปลอดภัยของนิวเคลียร์และรังสี กำหนดนโยบายและปฏิบัติตาม วางแผน และจัดตั้งมาตรฐานเกี่ยวกับระบบนิเวศและสภาพแวดล้อม รวมถึงการเฝ้าระวังและการบังคับใช้ นายหวังกล่าว
โดยเขาชี้แจงกับผู้แทนเกือบ 3,000 คนในการประชุมสภาที่ศาลามหาประชาชนว่า กระทรวงใหม่ที่จัดตั้งขึ้นจะช่วยปกป้องระบบนิเวศของประเทศ และสร้างให้จีนสวยงาม
การปกป้องสภาพแวดล้อมเป็นเป้าหมายสำคัญสำหรับจีน โดยประธานาธิบดีสีจิ้นผิงให้คำมั่นว่าจะสร้าง ‘ จีนที่สวยงาม ’ ด้วยท้องฟ้าสีครามและอากาศสะอาดไร้มลพิษในระหว่างการประชุมครั้งที่ 19 ของสภาพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อปีที่แล้ว
จีนเป็นประเทศที่สร้างมลพิษมากที่สุดในโลกก็จริง แต่ประเทศก็ยังคงมีข้อผูกพันและปฏิบัติตามข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในขณะที่สหรัฐฯกลับระบุว่า จะขอถอนตัวจากข้อตกลงนี้
ขณะเดียวกัน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่จะมีหน้าที่ในการกำกับดูแลการจัดการพื้นที่สีเขียว ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ น้ำ และทรัพยากรทางทะเล และการวางแผนตัวเมืองชั้นในและเขตเมือง โดยงานเหล่านี้เคยเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของกระทรวงและหน่วยงานที่แยกกันหลายแห่ง
โดยกระทรวงจะดูแลการพัฒนาและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างระบบเพื่อให้สามารถจัดเก็บรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ได้อย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ กระทรวงยังมีหน้าที่ในการปลูกป่าทดแทน เพื่อต่อสู้กับการแปรสภาพเป็นทะเลทราย ซึ่งจะทำให้พื้นที่ของประเทศมีความเสี่ยงที่จะแห้งแล้งและกันดาร
หม่าจุน ผู้อำนวยการสถาบันกิจการสาธารณะและสิ่งแวดล้อมที่มีสำนักงานอยู่ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเน้นที่ประเด็นเร่งด่วนคือ การปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ
“ การเปลี่ยนแปลงจะช่วยทำให้กระบวนการปกป้องและดูแลสิ่งแวดล้อมแข็งแกร่งขึ้น แต่ก็เป็นความท้าทายภายในที่จะบูรณาการหน้าที่ความรับผิดชอบใหม่ๆให้อยู่ในสองกระทรวงใหม่ได้อย่างลงตัว ” เขากล่าว.