มหาเศรษฐีจีนร่วมออกกฎหมาย
การประชุมสภานิติบัญญัติประจำปีของพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะมีสมาชิกเพิ่มมากกว่า 150 คนที่เป็นกลุ่มมหาเศรษฐี ซึ่งมีสินทรัพย์สุทธิรวมกันถึง 650,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 20.57 ล้านล้านบาท หรือมากกว่า 2 เท่าของจีดีพีของไอร์แลนด์ อ้างอิงจากรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 มี.ค.
โดยบรรดามหาเศรษฐีที่มีหลากหลายทั้งเจ้าพ่ออินเทอร์เน็ต วงการอสังหาริมทรัพย์ และผู้นำในอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ร่ำรวยที่สุดในจีน จะมานั่งรวมกันอยู่ในมหาศาลาประชาชนเพื่อร่วมประชุมครั้งใหญ่ที่เริ่มขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์นี้
หลายคนเป็นสมาชิกของสภาที่ปรึกษาการเมืองของจีน (CPPCC) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ปรึกษาสูงสุุดในประเทศ ซึ่งชุมนุมกันในวันที่ 3 มี.ค.
ขณะที่หลายคนเข้าร่วมประชุมกับสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) ซึ่งเป็นหน่วยงานประทับตรากฎหมาย ซึ่งเปิดการประชุมเป็นเวลา 2 สัปดาห์ในวันที่ 5 มี.ค.
สภาประชาชนแห่งชาติมีงานสำคัญในปีนี้ คือการผ่านร่างกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะยกเลิกการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี เพื่อเป็นการเปิดทางให้ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงอยู่ในอำนาจและดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศต่อไปหลังจากหมดวาระการทำงานในสมัยที่ 2 ในปี 2566
คาดการณ์ว่า จากจำนวนผู้แทนทั้งหมด 5,130 คนของสองหน่วยงานสำคัญรวมกัน มี 153 คนที่เป็นมหาเศรษฐี เมื่อเทียบกับมหาเศรษฐี 209 คนในปี 2560 อ้างอิงจากผลสำรวจโดยสถาบันจัดอันดับชั้นนำของจีน’หูรุ่น’ ซึ่งจัดอันดับมหาเศรษฐีในประเทศจีนเรียงตามจำนวนทรัพย์สินเป็นประจำทุกปี
ขณะที่มหาเศรษฐีที่เข้าร่วมประชุมลดจำนวนลงในปีนี้ แต่มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมกันของพวกเขากลับสูงถึง 650,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 507,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2560 อ้างอิงจากรายงานของหูรุ่น
โดยผู้แทนมหาเศรษฐีใน NPC คือ โพนี หม่า ประธานบริหารบริษัทยักษ์ใหญ่วงการอินเทอร์เน็ต Tencent และร่ำรวยที่สุดในบรรดาผู้แทนจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติทั้งหมด ด้วยทรัพย์สินสุทธิ 47,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.48 ล้านล้านบาท รวมทั้ง Lei Jun ซีอีโอบริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนเสี่ยวมี่ และ Li Shufu ประธานบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จีลี่
ขณะที่ผู้แทนเศรษฐีที่เข้าร่วมในการประชุม CCPPC มีทั้งซีอีโอของไบ่ตู้ ,ผู้ก่อตั้งอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ JD.com และเจ้าพ่อนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สีเจียหยิน ซึ่งปัจจุบันเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 2 ในจีนด้วยทรัพย์สินมูลค่าถึง 41,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.29 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ ในบรรดาผู้แทนในปีนี้ มี 28 คนที่ติดอันดับ 100 อันดับคนที่ร่ำรวยที่สุดในจีนจากอันดับรายชื่อประจำปีที่จัดทำโดยหูรุ่นเมื่อปี 2560
สภาของจีนให้การต้อนรับมหาเศรษฐี แม้รัฐบาลจะมีการเคลื่อนไหวอย่างเด็ดขาดในปีที่แล้ว ด้วยการแตะเบรกบริษัทเอกชนที่มีจำนวนหนี้มหาศาลเข้าซื้อกิจการราคาแพงในต่างประเทศ
โดยผู้ก่อตั้งบริษัทประกันภัย Anbang ต้องเผชิญกับการกล่าวหาของอัยการในข้อหาก่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจ และอ้างอิงจากข้อมูลของนิตยสารการเงิน Caixin ผู้ก่อตั้งและประธานของกลุ่มพลังงานของจีน CEFC กำลังถูกสอบสวนอยู่ในขณะนี้.