ญี่ปุ่นวิกฤต อัตราเกิดดิ่งสุด
(CNN) – อัตราการเกิดของทารกในญี่ปุ่นวิกฤตหนัก โดยข้อมูลในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ชี้ว่าอัตราการเกิดลดดิ่งลงมากที่สุดในรอบ 30 ปี จากข้อมูลของรัฐบาล
โดยอัตราการเกิดลดลง 5.9% ในเดือนม.ค. – ก.ค. ปีนี้ โดยตัวเลขผู้หญิงที่ตั้งครรภ์หดตัวลง และผู้หญิงมีบุตรช้าลง หรือตัดสินใจที่จะไม่มีบุตรเลย จากตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการ
ในช่วงเวลานี้ จำนวนการเกิดของทารกอยู่ที่ 518,590 คน โดยตัวเลขสำหรับทั้งปี 2561อัตราการเกิดอยู่ที่ 918,397 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่นับบุตรของชาวต่างชาติในญี่ปุ่น และทารกที่เกิดในต่างประเทศ
อัตราการเกิดที่ลดลง “เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้” ยาสุชิ มิเนชิมะ โฆษกของสถาบันประชากรและวิจัยความมั่นคงทางสังคมระบุ
อัตราการเกิดของญี่ปุ่นเริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2513 โดยในปี 2548 อัตราการเกิดต่ำสุดทุบสถิติอยู่ที่ 1.26 แต่หลังจากนั้น ก็ดูจะฟื้นตัวขึ้นมา จนมาเริ่มลดลงอีกครั้งในปี 2559 จากตัวเลขของรัฐบาล โดยในปี 2561 อัตราการเกิดอยู่ที่ 1.42
เพื่อให้จำนวนประชากรมีเสถียรภาพ หลายประเทศควรมีอัตราการเกิดอยู่ที่ 2.1 โดยในปีที่แล้ว สหรัฐฯ มีอัตราการเกิดอยู่ที่ 1.72 แต่ในเกาหลีใต้อยู่ที่ 0.98 หรือน้อยกว่าทารก 1 คนต่อผู้หญิง 1 คน ซึ่งอัตราการเกิดลดลงแตะระดับต่ำสุดตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกมาในเกาหลีใต้
มิเนชิมะเชื่อว่า วิกฤตของญี่ปุ่นเกิดจากจำนวนสตรีมีครรภ์ที่ลดลง “ เด็กที่เกิดในช่วงเบบี้บูมเมอร์ตอนนี้อยู่ในวัยปลาย 40 ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ทำให้อัตราการเกิดลดต่ำลงอย่างชัดเจน”
บรรดาผู้หญิงญี่ปุ่นมีบุตรช้าลง เนื่องจากทำงานนอกบ้านมากขึ้น จากการวิเคราะห์ของรัฐบาล โดยอายุเฉลี่ยของผู้หญิงที่มีบุตรคนแรกอยู่ที่ 30.7 ปี ในปี 2561 โดยอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อัตราการเกิดลดลงคืออัตราการแต่งงานที่ลดลงเช่นกัน
ในปี 2561 อัตราการแต่งงานอยู่ที่ 4.7 ต่อจำนวนประชากร 1,000 คน เมื่อเทียบกับตัวเลขที่สูงกว่า 10 ในช่วงปี 2513 จากสถิติของทางการ ในปี 2558 จำนวนประชากรที่มีอายุ 50 ปีและไม่เคยแต่งงานเป็นผู้ชาย 23% และผู้หญิง 14% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์
จำนวนผู้ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทางเพศเพิ่มขึ้นในญี่ปุ่น โดยจำนวนผู้หญิงวัย 18 – 39 ปี ซึ่งไม่เคยมีเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นเป็น 24.6% ในปี 2558 จากเดิม 21.7% ในปี 2535 จากผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยโตเกียว ขณะที่ผู้ชายวัย 18 – 39 ปี ที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มีมากถึง 25.8% ในปี 2558 เพิ่มขึ้นจากเดิม 20% ในปี 2535
ประเด็นอัตราการเกิดเป็นเรื่องสำคัญในญี่ปุ่นเพราะประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุมาก โดย 28% ของจำนวนประชากรเป็นผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และกำลังแรงงานหดตัวลงอย่างชัดเจน อ้างอิงจากตัวเลขรัฐบาล
เรื่องนี้ยังส่งผลกระทบกับจำนวนประชากรโดยรวมของประเทศ ซึ่งอยู่ที่ 126 ล้านคนในปี 2561 ลดลง 260,000 คนจากปีก่อนหน้า
เพื่อรับมือกับแนวโน้มนี้ รัฐบาลตั้งเป้าให้อัตราการเกิดอยู่ที่ 1.8 จากข้อมูลของ The Economist Intelligence Unit โดยมุ่งเน้นในการพัฒนาปรับปรุงสมดุลชีวิตการทำงานกับชีวิตครอบครัวของผู้หญิง ด้วยการเพิ่มสถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียนและให้บรรดาพ่อแม่ลางานมาเลี้ยงดูบุตรได้มากขึ้น