คลังลดภาษีหนุนคนซื้อบ้านเก่า
“อภิศักดิ์”เดินออกแพ็กเกจช่วยเหลือคนชราครบวงจร มั่นใจพร้อมเข้าครม.เดือนส.ค.ชู “Reverse Mortgage”ลดภาษีบ้านเก่า กระตุ้นคนไทยเปลี่ยนพฤติกรรมเลิกกลัวผี
“อภิศักดิ์” เร่งออกแพ็กเกจช่วยเหลือผู้สูงอายุ 4 มาตรการรวด ซึ่งขณะนี้ผลการศึกษาใกล้เสร็จแล้ว โดยเฉพาะสินเชื่อ Reverse Mortgage ต้องลดภาษีเพื่อกระตุ้นให้คนไทยซื้อบ้านมือสองมากขึ้น
หากเราต้องการทำสินเชื่อบ้านสำหรับผู้สูงอายุ หรือ Reverse Mortgage กระทรวงการคลังต้องมีมาตาการภาษีเพื่อสนับสนุนให้คนหันมาซื้อบ้านมือสอง หรือบ้านเก่ามากขึ้น นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือคนชรา ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง
รมว.คลัง กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือคนชราที่กระทรวงการคลังกำลังศึกษาอยู่ในขณะนี้ จะมีออกเป็นแพ็กเกจใหญ่มีทั้งหมด 4 มาตรการ ประกอบด้วย 1.การลดหย่อยภาษีเพื่อสนับสนุนการจ้างงาน 2.มาตรการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับคนผู้สูงอายุที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไป 3.การจัดตั้งกองทุนบำนาญแห่งชาติ (กบช.) และ4.การออกสินเชื่อรูปแบบ Reverse Mortgage หรือการปล่อยกู้บ้านสำหรับคนเกษียณที่ไม่มีทายาทเลี้ยงดู หรือไม่ได้ต้องการรับเงินช่วยเหลือจากบุตรหลาน แต่มีบ้านเป็นของตนเอง เพื่อให้คนชราเหล่านี้ มีรายได้จากการนำบ้านไปจำนองกับธนาคารพาณิชย์
“ผลการศึกษาของเราได้ทำเกือบเสร็จทั้งหมดแล้ว และคาดว่าภายในเดือนส.ค.นี้ จะเสนอให้ ครม.พิจารณาได้ โดยในช่วงระยะเวลาที่เหลือเพียง 1-2 ประเด็นที่ต้องทำให้รอบครอบเพื่อสร้างระบบที่ดูแลผู้สูงอายุอย่างครบวงจร” รมว.คลัง กล่าวและอธิบายว่า
ล่าสุดได้สั่งให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปศึกษาเพิ่มเติมเช่นการปล่อยกู้บ้านสำหรับคนเกษียณจะต้องมองประเด็นนี้ให้ครบวงจร เพราะปัจจุบันคนไทยไม่นิยมซื้อบ้านเก่า ทั้งที่มีราคาถูกกว่าบ้านใหม่ 2-3 ตัว ซึ่งจะส่งผลกระทบธนาคารที่ออกโปรแกรม Reverse Mortgage เพราะหากเจ้าของบ้านตายไปแล้ว ใครจะมาซื้อบ้านหลังนี้หากลูกหลานหรือทายาทไม่ต้องการ นอกจากนี้คนไทยยังมีความเชื่อเรื่องผี และเจ้าที่ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านนี้อาจจะทำให้โครงการนี้สะดุดได้
“Reverse Mortgage” มีลักษณะคล้ายกับการปล่อยสินเชื่อบ้านทั่วไป เพราะคนหนุ่มสาวเมื่อซื้อบ้านก็จะกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ เมื่อระยะเวลาผ่านพ้นไป 20-30 ปี ได้เป็นเจ้าของบ้าน แต่ในช่วงบั่นปลายชีวิตไม่มีลูกหลานเลี้ยงดูก็สามารถนำบ้านหลังดังกล่าวมาจำนองกับธนาคารพาณิชย์ได้
แต่ประเด็นอยู่ตรงที่ทรัพย์สินทั้งที่ดินและบ้านที่ตกมาอยู่ในมือของธนาคารจะทำอย่างไร ถึงจะขายออกไปได้ เพราะหากธนาคารขายทรัพย์สินเหล่านี้ ไม่ได้ก็กลายเป็นภาระต้นทุนและยังทำให้โครงการล้มเหลวไปเลยก็ได้
ดังนั้น สศค.ต้องไปศึกษาเพิ่มเติมว่าจะเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดบ้านเก่าได้อย่างไรบ้าง ซึ่งในสหรัฐฯ หรือญี่ปุ่นมีมาตรการที่ส่งเสริมการซื้อและขายบ้านเก่า เช่น หากขายบ้านหลังเดิมภายในระยะเวลา 3-4 เดือนแล้วชื้อบ้านมือเก่า มาเป็นที่อยู่อาศัยหลังใหม่ จะได้รับการลดอัตราภาษีลง 10-15% เป็นต้น เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้คนหันมาซื้อบ้านมือสองเพิ่มมากขึ้น
“มาตรการนี้ ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่ผลิตบ้านใหม่ อาจจะไม่ชอบใจนักและอาจถูกคัดค้านแต่โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่า กระทรวงการคลังต้องปลดล็อกเรื่องนี้ให้ได้ เพราะบ้านมือสองมีข้อดีกว่าบ้านใหม่หลายประการ เช่น 1.ราคาถูกกว่า 2.สามารถเลือกทำเลได้ตามความเหมาะสม และ3.ช่วยระบายสต๊อกบ้านมือสอง และยังเพิ่มสภาพคล่องให้กับประชาชนที่ต้องการขายบ้านได้ด้วย เช่น คอนโดมิเนียมบนถนนสุขุมวิท ซึ่งเป็นทำเลทอง ขายตารางเมตรละ 300,000 บาท แต่หากเป็นคอนโดมิเนียมมือสอง บนทำเลเดียวกันหรือใกล้ๆ กันซื้อขายตารางเมตรไม่ถึง 100,000 บาทเป็นต้น”
ส่วนเรื่องการจัดตั้ง กบช.นั้น ได้ข้อสรุปแล้ว โดยในหลักการจะให้ลูกจ้างที่ทำงานในบริษัท และเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมเดิมอยู่แล้ว ต้องสมัครเข้าเป็นสมาชิกของ กบช.แบบภาคบังคับอีก 1 กองทุน เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับแรงงานที่ทำ งานอยู่ระบบอีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันลูกจ้างที่อยู่ในระบบจะต้องสมาชิกเข้าเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมแบบภาคบังคับ โดยกองทุนประกันสังคมฯ จะทำหน้าที่ดูแลคนที่อยู่ในวัยทำงานเช่น ได้บาดเจ็บจากการทำงาน ป่วยหรือคลอดบุตร เป็นต้น โดยไม่ได้เน้นดูแลแรงงานที่เกษียณไปแล้ว แต่บางบริษัทก็มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ดูแลคนเกษียณ แต่ก็เป็นภาคสมัครใจส่วนแรงงานนอกระบบก็มีกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เป็นผู้ดูแล สำหรับการจ่ายเงินสมทบของเข้า กบช.นั้น ได้ให้นโยบายว่า ไม่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้า กบช.จำนวนมากๆ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อรายได้ในแต่ละเดือน
สำหรับมาตาการจ้างแรงงานผู้สูงอายุนั้นล่าสุด กรมสรรพากรเสนอมาตรการจูงใจให้บริษัทเอกชนที่จ้างงานผู้มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป บริษัทเอกชนสามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักภาษีได้ 2 เท่า แต่ไม่เกิน 10% ของจำนวนลูกจ้างแรงงานทั้งหมด และกำหนดเงินเดือนผู้สูงอายุไม่เกินคนละ 15,000 บาท ส่วนเรื่องบ้านคนชรา ขณะนี้กำลังรอผลการศึกษาของ สศค.ซึ่งจะมีลักษณะเพิ่มแรงจูงให้ผู้ประกอบการสร้างบ้านสำหรับคนชรามากขึ้น.