หมากล้อมสร้างคนปั้นเยาวชนคุณภาพ
หมากล้อม หรือ โกะ เป็นเกมกีฬาที่ได้รับความนิยมมากขึ้นทุกวัน ดูจากการแข่งขันกีฬาหมากล้อมเอเชี่ยน ยูนิเวอร์ซิตี้ โกะ ทัวร์นาเม้นท์ 2019 (Asian University Go Tournament 2019) และการแข่งขันกีฬาหมากล้อมอุดมศึกษาชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 22 เมื่อกลางเดือน ก.ย.62 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ลำปาง จ.ลำปาง
ที่มีเยาวชนไทยจากทั่วประเทศและในภูมิภาคเอเชียเข้าร่วมชิงชัยกว่า 300 คน ทำให้เห็นถึงความน่าสนใจของกีฬาหมากล้อมที่ไม่เพียงแต่สร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้รู้จักวางแผน วางกลยุทธ์ แต่ยังเป็นกีฬาที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนไทยกับชาวต่างชาติอีกด้วย
ปัจจุบันหมากล้อมได้ถูกเผยแพร่ไปกว่า 70 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย ที่มีนักหมากล้อมทุกเพศทุกวัยให้ความสนใจ ด้วยเป็นกีฬาที่ไม่เพียงแค่สนุก แต่ยังยกระดับจิตวิญญาณได้อย่างน่ามหัศจรรย์ เสริมสร้างพัฒนาการทั้งความฉลาดทางปัญญา ความฉลาดทางอารมณ์ คุณธรรม และความอดทนต่อสถานการณ์อันไม่พึงประสงค์ ซึ่งได้มีการรวมกลุ่มกันเป็นชมรม ต่อมาจึงได้จัดตั้งเป็น “สมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทย” (Go Association of Thailand) เมื่อวันที่ 25 ส.ค.36 โดยมีคุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ เป็นผู้ก่อตั้งและปธ.ชมรม ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ
จุดเด่นของหมากล้อมคือ “การเอาชนะโดยไม่มุ่งทำลายฝ่ายตรงข้าม” หากจะเปรียบก็เหมือนคนที่แกร่งด้วยสติปัญญา ไม่ต้องใช้กำลัง เป็นผู้เหนือกว่าโดยอีกฝ่ายยอมศิโรราบโดยสันติ ซึ่งผู้เล่นหมากล้อมจะรู้จักวางแผน และตัดสินใจด้วยเหตุผลไม่ใช่อารมณ์ ได้เรียนรู้ว่าความสำเร็จเกิดจากการผสมผสานนโยบาย กลยุทธ์ และยุทธวิธีที่ดีพร้อมไม่ใช่ได้มาจากโชคช่วย รู้จักจัดลำดับความสำคัญของการทำงานว่างานด่วนต้องทำก่อนงานใหญ่ เข้าใจสัจธรรมเรื่องความเปลี่ยนแปลง ช่วยให้ไม่ยึดติด และที่สำคัญคือรู้จักประมาณตน เคารพ และให้เกียรติผู้อื่น เหล่านี้ล้วนแต่เป็นคุณสมบัติของทรัพยากรบุคคลทรงคุณค่า โดยเฉพาะเยาวชนที่จะเป็นกำลังในการพัฒนาสังคม และประเทศชาติ
ในการแข่งขันครั้งนี้ได้มีโอกาสได้พูดคุยกับนักหมากล้อมรุ่นเยาว์ หลากหลายมุมมองสะท้อนให้เห็นเสน่ห์ของกีฬาหมากล้อมอย่างน่าสนใจ
นายธีระ รุ่งเรืองทวีพงศ์ อายุ 25 ปี ปัจจุบันกำลังศึกษาในระดับปริญญาโท ที่ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ เริ่มเล่นหมากล้อมมาตั้งเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เปิดเผยว่า ที่ตัดสินใจเล่นกีฬาชนิดนี้ เพราะช่วยในการฝึกวางแผน ใช้ในชีวิตประจำวัน ช่วยให้มีสมาธิ รู้จักใจเย็นเวลาตัดสินใจ ตั้งแต่เล่นมารู้สึกว่าช่วยในเรื่องการเรียนอย่างชัดเจน ทำให้มีระเบียบมากขึ้น อ่านหนังสือทบทวนตำรา ก็เข้าใจยิ่งขึ้น เพราะได้คิดอย่างมีระบบ
“รู้จักหมากล้อมครั้งแรก เพราะเข้าไปในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น เห็นชุดกระดานหมากล้อมวางขายเลยลองซื้อมา จากนั้นก็ได้อ่านการ์ตูนฮิคารุ เซียนโกะ ก็ชอบเลย จึงได้หัดเล่นอย่างจริงจัง ตอนนี้อยู่ระดับฝีมือ 5 ดั้ง ปัจจุบันในประเทศไทยก็มีการจัดการแข่งขันอย่างแพร่หลาย ก็ถือเป็นเรื่องดี เพราะนอกจากจะทำให้กีฬาชนิดนี้เป็นที่รู้จักมากขึ้นแล้ว ยังทำให้ผู้เล่นได้มีโอกาสพัฒนาฝีมือจากการได้มาแข่งขัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และศึกษากลยุทธ์จากเพื่อนหใม่ๆ ด้วย” นายธีระกล่าว
ล่าสุด เจ้าตัวเพิ่งทำผลงานได้เป็นที่น่าประทับใจด้วยการคว้าตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับ 2 ในการแข่งขันกีฬาหมากล้อมอุดมศึกษาชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 22 ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดลำปาง โดยสมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ การกีฬาแห่งประเทศไทย ม.ราชภัฏลำปาง และ บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่นในประเทศไทย จัดขึ้น
ด้าน นายพงศกร ทนันชัย นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ มรภ.ลำปาง วัย 20 ปี ซึ่งเข้าร่วมการแข่งขันรายการดังกล่าวเช่นเดียวกัน เล่าให้ฟังถึงความสนใจเลือกเล่นหมากล้อมว่า เพราะเป็นหมากกระดานที่แตกต่างจากหมากอื่นๆ ที่เน้นการฆ่าอีกฝ่าย จัดการกับอีกฝ่ายให้ได้ แต่หมากล้อมเป็นเกมที่ค่อนข้างใช้สันติ เดินธรรมดา ให้ตัวเองมีบ้านอยู่ มีแต้มเยอะ ไม่ต้องฆ่าฝ่ายตรงข้ามเลย ก็สามารถชนะได้
“เล่นหมากล้อมมาตั้งแต่อายุ 18 ปี ล่าสุดวัดระดับฝีมืออยู่ที่ 8 คิว ชอบเพราะช่วยเรื่องการพัฒนาการคิด กระบวนการการคิด ทักษะการใช้สมองคิดวิเคราะห์ ทำให้เรียนดีขึ้น เหมือนสมองประมวลผลเร็วขึ้น เพราะเหมือนได้วอร์มอัพสมองอยู่ตลอดเวลา ถ้ามีเวลาว่างก็จะเล่นให้ได้อย่างน้อยวันละ 1 กระดาน ส่วนมากก็จะเล่นกับเพื่อนๆ ที่ชมรม ซึ่งกีฬาชนิดนี้เล่นได้ทุกเพศ ทุกวัย ไม่จำกัดอายุ เด็กเล็กๆ ก็เล่นได้แล้ว ในต่างประเทศก็ส่งเสริมกันมาก” นายพงศกร ให้ข้อมูล
ปิดท้ายกันที่ “น้องเฟรนลี่” น.ส.กชพร ศรีวรกุล นักศึกษาจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาสังคมศึกษา ชั้นปีที่ 3 มรภ.ลำปาง วัย 21 ปี ที่แม้เพิ่งเริ่มเล่นหมากล้อมมาได้เพียงแค่ไม่กี่เดือน แต่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจจริง และฝึกฝนอยู่เสมอ ก็ได้มีโอกาสมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการแข่งขันระดับประเทศเป็นครั้งแรก
“ตอนเรียนปี 1 มีวิชาสุนทรียภาพซึ่งมีการพูดถึงกีฬาหมากล้อมว่าช่วยฝึกสมาธิ เลยลองหาข้อมูลดู แรกๆ ก็ยังเล่นไม่เป็นเพราะยังไม่รู้เทคนิค ต่อมาได้เข้าชมรมของมหาวิทยาลัย ก็มีเพื่อนเล่นเยอะ รู้สึกว่าเราคิดอย่างมีหลักการ และรู้จักวางแผนมากขึ้น กีฬาชนิดนี้สอนให้เรารู้ว่าการกระทำแต่ละอย่างมีเหตุผลของมัน” ผู้เล่นหน้าใหม่กล่าว ทิ้งท้าย.